BACK TO EXPLORE

ฝนหลวง พระอัจฉริยภาพในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ปวงประชาไม่ลืมเลือน

ฝนหลวง พระอัจฉริยภาพในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ปวงประชาไม่ลืมเลือน

เมื่อปี พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนของพสกนิกรเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปในพื้นที่ภาคอีสาน ราษฎรและเกษตรขาดแคลนน้ำอุปโภคและการเกษตร พระองค์ทรงมีความห่วงใย พระราชทานโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” เป็นโครงการที่ค้นคว้าทดลองขึ้นจนกลายเป็นสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี พ.ศ. 2518 จากการใช้เครื่องบินบรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้ากลายเป็นฝนเทียม เปรียบเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจของประชาชนชาวไทยทุกคน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการคิดค้นเทคโนโลยีการสร้างฝนหลวงซึ่งเทคนิคต่างๆ กลายเป็นองค์ความรู้ที่ทั่วโลกยอมรับและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่แห้งแล้ง มีการเผยแพร่ภาพอินโฟกราฟิกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงอธิบายขั้นตอนอย่างละเอียดออกมาเป็นภาพในหนังสือที่เรียกว่า ตำราฝนหลวงพระราชทาน หรือ Royal Rainmaking Textbook เมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยชาวต่างชาติที่ศึกษาจะเข้าใจถึงเทคนิค Super Sandwich เป็นการใช้เครื่องบินปล่อยสารเคมีให้เกิดความร้อนชื้นมาปะทะกับความเย็นเพื่อให้เกิดเป็นเม็ดฝน



ประโยชน์ของฝนหลวงที่เข้ามาบำบัดทุกข์บำรุงสุขมีส่วนช่วยเหลือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยดังต่อไปนี้

- ด้านการเกษตร มีการร้องขอฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงที่เกิดภาวะฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงยาวนานซึ่งมีผลกระทบต่อแหล่งผลิตทางการเกษตรที่กำลังให้ผลผลิต เช่น แถบจังหวัดจันทบุรี หรือเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งยังสามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำของแม่น้ำสายต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนลดน้อยลง เช่น แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เป็นต้น

- เพื่อการอุปโภค บริโภค การขาดแคลนน้ำกิน น้ำใช้ มีความรุนแรงมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากภูมิภาคนี้เป็นดินร่วนปนทรายไม่สามารถอุ้มซับน้ำได้ จึงไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ดีเท่าที่ควร

- ช่วยในการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ ภายใต้พื้นดินของภาคอีสานมีแหล่งหินเกลือเป็นจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง ดังนั้นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่ไม่มีทางระบายออก หากมีปริมาณน้ำเหลือน้อย น้ำจะกร่อยและเค็มได้

- เสริมสร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เช่น ทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบางตนในปัจจุบันการทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับบริเวณดังกล่าวจึงนับเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะการขนส่งสินค้าทางน้ำเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทางอื่น และการจราจรทางบกนับวันจะมีปัญหารุนแรงมากขึ้นทุกขณะ

- ป้องกันและบำบัดภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อม หากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดน้อยลงเมื่อใด น้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยก็จะไหลหนุนเนื่องเข้าไปแทนที่ทำให้เกิดน้ำกร่อยขึ้น และเกิดความเสียหายแก่เกษตรกรเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นที่ต้องมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพล เพื่อผลักดันน้ำเค็มมิให้หนุนเข้ามาทำความเสียหายต่อการอุปโภค บริโภคหรือเกษตรกรรม รวมทั้งสิ่งที่เราอาจไม่คาดคิดมาก่อนว่า ฝนหลวง ได้บรรเทาภาวะสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอันเกิดจากการระบายน้ำเสียทิ้งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและขยะมูลฝอยที่ผู้คนทิ้งลงในสายน้ำกันอย่างมากมายนั้น ปริมาณน้ำจากฝนหลวงจะช่วยผลักดันออกสู่ท้องทะเล ทำให้ภาวะมลพิษจากน้ำเสียเจือจางลง ซึ่งสังเกตเห็นได้ชัดเจนจากขยะมูลฝอยและกระแสน้ำเสียต่างสีในบริเวณปากน้ำจนถึงเกาะล้านเมืองพัทยา

- เพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าบ้านเมืองของเราประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณสูงมากจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เมื่อเกิดภาวะวิกฤติระดับน้ำเหนือเขื่อนมีระดับต่ำมากจนไม่เพียงพอต่อการใช้พลังงานน้ำ ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าส่งให้ผู้ใช้ได้อย่างทั่วถึงจนถึงขนาดเกรงกันว่าอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการต่างๆ ในการประหยัดพลังงานไฟฟ้ากันบ้างเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น



และจากพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถทรงช่วยเหลือพสกนิกรได้ในวงกว้าง ทำให้โครงการฝนหลวงและตำราดังกล่าวได้รับรางวัล Gold Medal with Mention พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติใหเกับผลงานประดิษฐ์คิดค้นโครงการฝนหลวงที่งานบรัสเซลส์ ยูเรก้า 2001 ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2545 คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ในฐานะของปวงราษฎร์ชาวไทยขอสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

ขอบคุณข้อมูลจาก: www.chaipat.or.th

YOU MAY ALSO LIKE