BACK TO EXPLORE

7 ศิลปินระดับโลก กับ Art Project การ์ตูนสุดฮิต Peanuts ครั้งแรกในไทย

อินกับความเป็น Peanuts ได้สุด กับการเปิด 7 ตัวตน ความรัก และแรงบันดาลใจของศิลปินทั้ง 7

OneSiam ชวนทุกคนมาตื่นตาตื่นใจ ค้นพบแรงบันดาลใจและความแปลกใหม่ กับอีเวนต์ระดับโลกที่แรกในเมืองไทย ประสบการณ์ความสนุกสุดล้ำและสร้างสรรค์แห่งยุค เมื่อคาแร็กเตอร์การ์ตูน Peanuts ได้มาโลดแล่นอยู่ใจกลางสยาม กับ Peanuts Global Artist Collective โปรเจ็กต์สุดยิ่งใหญ่ระดับโลกที่ศิลปินระดับอินเตอร์ทั้ง 7 คน ได้แก่ Rob Pruitt, Tomokazu Matsuyama, Nina Chanel Abney, Kenny Scharf, Friendswithyou, André Saraiva x Mr. A และ AVAF มาร่วมสร้างสรรค์ลวดลาย Peanuts สุดเอ็กซ์คลูซีฟ ให้ทุกคนได้ดื่มด่ำงานศิลปะรูปแบบใหม่ ช้อปสินค้า Peanuts แบบจัดเต็ม เอ็กซ์คลูซีฟไม่เหมือนใคร พร้อมสนุกกับกิจกรรมสุดเพลิดเพลินมากมายที่จะทำให้หัวใจอิ่มเอิบไปด้วยความสุข ตั้งแต่วันที่ 11-30 มิถุนายน 62 ที่สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่



Rob Pruitt

อาร์ทิสต์ชาวอเมริกันแนว post-conceptual art (เน้นเรื่องแนวคิดหรือคอนเซ็ปต์มากกว่าเรื่องความงาม) ผลงานของเขามีทั้งภาพวาด ศิลปะจัดวาง และประติมากรรม - - จริงๆ แล้วศิษย์เก่า Parsons School of Design ที่นิวยอร์กคนนี้ไม่ได้มีสไตล์หรือสื่อในการทำงานศิลปะแค่อย่างเดียว เขามองว่างานของเขาเป็นอะไรที่มีความเป็นปัจเจก และเกี่ยวกับชีวประวัติ แต่ซิกเนเจอร์ที่ทำให้คนรู้จักเขาคือ ภาพวาดหมีแพนด้าและภาพวาดแนวแกรเดียนต์ (ไล่สี) เขาได้จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองมากมาย และแน่นอนว่างาน Peanuts Global Artist Collective ที่จะจัดขึ้นครั้งแรกในเมืองไทยที่ OneSiam สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ เราจะได้เห็นหมีแพนด้ามาทำอะไรสนุกๆ กับหมาสนู้ปี้ด้วยละ ศิลปินวัย 55 ปีคนนี้เผยแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ Peanuts ในแบบฉบับของเขาว่า “ผมรักพีนัตส์มาตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ว่าไปแล้ว ผมคิดว่า ผมหัดวาดรูปด้วยตัวเองก็จากการหัดเลียนแบบตัวการ์ตูนพีนัตส์อยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะพวกดีเทลอย่างต้นหญ้า หิมะ และลายเส้นพลิ้วไหว” เปปเปอร์มินต์ แพ็ตตี้ และชาร์ลี บราวน์ เป็นตัวละครที่เขาชื่นชอบ และดนตรีของ Vince Guaraldi ที่เปิดในการ์ตูนพีนัตส์ที่ฉายทางทีวีตอนคริสต์มาส และกล่องข้าวกลางวันลายสนู้ปี้ตอนเรียนเกรดหนึ่ง คือความทรงจำที่ร็อบมีต่อพีนัตส์



Kenny Scharf

ศิลปินชาวอเมริกันที่ถนัดด้านภาพวาดและศิลปะจัดวางคนนี้เป็นที่รู้จักดีจากผลงานที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์ทางด้านภาพ โดยอินสไปร์มาจากหนังสือการ์ตูนและป็อปคัลเจอร์ เคนนี่ตั้งปณิธานและวางรากฐานของตัวเองในฐานะศิลปินตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อนว่า ทุกโปรเจ็กต์ที่ทำ ตั้งแต่ภาพวาด รูปปั้น และการแสดง ต้องเป็นผลงานที่ทำออกมาอย่างตั้งใจดีที่สุด หลักการสร้างสรรค์งานของเขาคือ ก้าวข้ามเส้นแบ่งของงานวิจิตรศิลป์ที่คนอาจมองว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรมชั้นสูง และพยายามเชื่อมต่อกับวัฒนธรรมกระแสนิยม ศิลปินวัย 60 ปีคนนี้เชื่อว่า ศิลปินควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการทำให้คนสามารถเข้าถึงศิลปะในชีวิตประจำวันได้ เท่ากับว่าทำให้ประสบการณ์ในแต่ละวันมีคุณภาพมากขึ้น แม้ว่าทัศนคติด้านศิลปะของเขามีความจริงจังอยู่ไม่น้อย แต่ผลงานของเขาก็ซ่อนความตลกขบขัน มีความกล้าและแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร เพราะความรักในพีนัตส์ที่ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะมาร่วมโปรเจ็กต์นี้ และเขายังคิดว่าตัวเองตอนเป็นเด็กช่างเหมือนกับตัวชาร์ลี บราวน์ สุดๆ - - เด็กหนุ่มที่เพื่อนๆ ไม่ค่อยจะยอมรับ และเพื่อนบ้านแสนดีของเขาก็คล้ายๆ สาวน้อยลูซี่ซะด้วย



Nina Chanel Abney

จิตรกรสาวชาวแอฟริกัน-อเมริกันคนนี้ผสมผสานเทคนิคการแสดงสัญลักษณ์และนามธรรมในภาพวาดของเธอ ที่สามารถถ่ายทอดจังหวะอันสวิงสวายของวัฒนธรรมร่วมสมัย เธอกล้าพูดเรื่องเชื้อชาติ ความเป็นคนดัง ศาสนา การเมือง เพศ และประวัติศาสตร์ศิลปะ ผลงานของเธอใช้สัญลักษณ์และสีสันสดใสเพื่อนำเสนอวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำให้คนเข้าถึงเรื่องราวต่างๆ แล้วปล่อยให้แต่ละคนมีข้อสรุปของตัวเอง โดยใช้ทั้งความขี้เล่นและความจริงจัง นีน่าถึงกับบอกว่า งานของเธอ “เคี้ยวง่าย แต่ย่อยยาก” ศิลปินสาววัย 36 ปีคนนี้เล่าแรงบันดาลใจในการเข้าร่วมโปรเจ็กต์นี้ว่า “ตอนฉันเป็นเด็ก ฉันติดหนังของพีนัตส์ทุกเรื่อง และ ‘Race for your life, Charlie Brown’ เป็นตอนโปรดของฉันเลย อารมณ์ขันที่ซ่อนอยู่และลายเส้นจับใจฉัน ในมุมมองของเด็กคนหนึ่ง ฉันคงจะวาดตัวการ์ตูนตัวโปรดทุกตัว แต่การที่ฉันมีโอกาสได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ บรรจงเลือกว่าจะวาดอะไรดีในพีนัตส์ เหมือนความฝันวัยเด็กเป็นจริงขึ้นมา  นอกจากนั่งดู  A Charlie Brown Christmas ทุกปีตอนเป็นเด็ก ความทรงจำที่มีต่อพีนัตส์คือ ตอนที่แม่ซื้อชุดผ้าปูที่นอนสนู้ปี้มาให้ และตอนนี้ฉันยังเก็บปลอกหมอนหนึ่งใบไว้อยู่!”



Tomokazu Matsuyama

ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตและทำงานในนิวยอร์กคนนี้ (เขาเป็น 1 ใน 7 ศิลปินที่เดินทางมาร่วมงานเปิดตัว โปรเจ็กต์ Peanuts Global Artist Collective ในเมืองไทย) จบปริญญาโทด้าน Fine Arts สาขา Communications Design จาก Pratt Institute นิวยอร์ก ผลงานของเขาสะท้อนประสบการณ์จากการเป็นคนที่เติบโตขึ้นมาจาก 2 วัฒนธรรม (ญี่ปุ่นและอเมริกา) ซึ่งเขาสามารถผสมผสานระบบความคิดเกี่ยวกับความงามจากโลกตะวันออกเข้ากับตะวันตก โดยหัวข้อที่เขาสนใจมีหลากหลายตั้งแต่ศิลปะของญี่ปุ่นในสมัยเอโดะและเมจิ งานประติมากรรมกรีกและโรมันโบราณ ภาพวาดยุคเฟรนช์เรอเนสซองส์ ศิลปะร่วมสมัยยุคหลังสงครามโลก และภาษาภาพของวัฒนธรรมกระแสนิยมของโลก ที่ถูกนำเสนอผ่านสินค้าที่ผลิตในเชิงพาณิชย์ โปรเจ็กต์ระดับโลก พีนัตส์เป็นหนึ่งในความสนุกและท้าทายที่สุดในวงการศิลปะ ส่วนความทรงจำสุดประทับใจที่มีต่อ Peanuts คือตอนที่ชาร์ลี บราวน์ และสนู้ปี้เดินทางไปเยี่ยมสตูดิโอทำงานของชูลตส์ (ผู้เขียนและวาดการ์ตูนช่อง Peanuts) ที่เมืองซานตา โรซา เป็นอะไรที่ตราตรึงใจเขา  



André Saraiva x Mr. A

กราฟิตี้เป็นเวทีแจ้งเกิดให้โลกได้รู้จักกับอ็องเดร - - ศิลปินกราฟิตี้ชาวสวีเดน หรือรู้จักอีกชื่อว่า Mr. A - - ตอนอายุ 10 ขวบ เขาย้ายไปอยู่ในปารีส และวาดลวดลายศิลปะกราฟิตี้ครั้งแรกเมื่ออายุ 13 ปีบนผนังกำแพงในละแวกบ้าน ตอนอายุ 18 ปี มิสเตอร์เอชนะการแข่งขันผลงานกราฟิตี้ ที่จัดโดยนิตยสารฝรั่งเศสรายสัปดาห์อย่าง L’Express ต่อมาผลงานของเขาได้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัยทั่วโลก นอกจากนี้เขายังสวมหมวกหลายใบมาก เป็นทั้งนักแสดง ผู้กำกับ เจ้าของโรงแรม ร้านอาหาร และไนต์คลับ ศิลปินหนุ่มวัย 47 ปีคนนี้ถ่ายทอดแรงบันดาลใจในการออกแบบลวดลาย Peanuts ครั้งพิเศษว่า “ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้ของชาลส์  ชูลตส์ และตัวการ์ตูนพีนัตส์ทุกตัวมานานแล้ว ทั้งชาลส์และพีนัตส์ เป็นแรงบันดาลใจให้กับงานศิลปะของผมมาตลอด ผมรักตัวการ์ตูนทุกตัว แต่รักมากเป็นพิเศษก็ต้องยกให้ไลนัส กับผ้าห่มคู่ใจของเขา เขาทำให้ผมนึกถึงตัวเองตอนเป็นเด็ก ผมหวังมาตลอดว่า ผมจะมีหมาสนู้ปี้และนกวู้ดสต็อก”



FriendsWithYou  

คู่ดูโอศิลปินแนวไฟน์อาร์ตจากลอสแองเจลิส เกิดจากการทำงานร่วมกันของซามูเอล บอร์กสัน และอาร์ตูโร แซนโดวอล เติร์ด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ด้วยความตั้งใจที่จะสื่อสารและส่งต่อข้อความเชิงบวก คือ ความมหัศจรรย์ โชคดี และมิตรภาพ เฟรนดส์วิทยูโด่งดังจากผลงานแนว immersive installation (เน้นให้ผู้ชมงานเข้าถึงประสบการณ์ได้อย่างล้ำลึก เช่น งานที่ทำให้ได้ใช้ประสาทสัมผัสรูป รส กลิ่น หรือเสียง เพิ่มเติมจากการมองเห็น)  และงานศิลปะที่ผสานเทคโนโลยีสุดล้ำ โดยสองศิลปินเชื้อเชิญให้ผู้ชมงานได้เข้าถึงและตีความชีวิตของตัวเองในมุมมองใหม่ผ่านการมีประสบการณ์ร่วมกัน อาร์ทิสต์ทั้งสองทำงานผ่านภาพวาด ประติมากรรม อินสตอลเลชั่นขนาดใหญ่ การแสดงสด วีอาร์ (เทคโนโลยีเสมือนจริง) และแอนิเมชั่น โดยผสมผสานศิลปะเพื่อการเยียวยา ความเชื่อสมัยใหม่ ความเชื่อเรื่องวิญญาณ และสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการรวมเป็นหนึ่งเดียว งานศิลปะของทั้งสองจะเป็นการสำรวจอารมณ์ที่ซุกซ่อนอยู่ ทั้งความสนุกสนานขี้เล่น และการครุ่นคิด เฟรนดส์วิทยูตั้งใจที่จะสร้างโมเม้นต์ของการตระหนักรู้ทางด้านจิตวิญญาณ และการมีปฏิสัมพันธ์ที่ทรงพลังและร่าเริง รวมทั้งแมสเสจของการมีปฏิสัมพันธ์ถึงกันทั่วโลก แบบที่ว่า เราเป็น เพื่อน-กับ-คุณ

ทั้งคู่เล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจที่มาทำงานกับโปรเจ็กต์ Peanuts ว่า “เราสนใจเรื่องการใช้ภาษาภาพในเชิงวัฒนธรรมและความป็อปปูล่าร์ เพื่อเผยแพร่ไอเดียของการมองโลกในแง่ดีและสร้างพลัง การได้ใช้ภาษาพีนัตส์ทำให้เรามีความสุขล้นจนบรรยายเป็นคำพูดไม่ออก เราคิดว่าศิลปะควรจะเข้าถึงทุกคน และสปาร์กี (ชาลส์ ชูลตส์ – ผู้แต่งและวาด Peanuts) เป็นคนหนึ่งที่ทำได้สำเร็จ เขาสามารถจัดการกับแมตทีเรียลที่เต็มไปด้วยอารมณ์และมีความลึกซึ้ง ให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย และเราหวังเพียงว่าเราจะสามารถพูดจาภาษาเดียวกันกับเขาได้”

เมื่อถามถึงตัวการ์ตูนและความทรงจำเกี่ยวกับพีนัตส์ในดวงใจ แซมเล่าว่า “พีนัตส์ในความรู้สึกของผม คือกระบวนความคิดที่มีทั้งความเศร้าและความสงบ บางสิ่งที่มีมากกว่าคำพูด การ์ตูนตอน Christmas Special และ The Great Pumpkin เป็นช่วงเวลาสุดวิเศษสำหรับผมเลย แต่ผมยกให้โมเม้นต์ที่วู้ดสต็อกและสนู้ปี้เล่นพิณตัวใหม่ คือที่สุด จริงๆ แล้ว ดนตรีทั้งหมดของพีนัตส์จับใจผมมาก! สนู้ปี้กับวู้ดสต็อกเป็นคนโปรดของผมเสมอ แต่ไลนัสและพิกเพ็นได้เข้าไปนั่งในหัวใจผม!” ส่วนทูรีเล่าว่า “ผมโตในคิวบา ประเทศคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นการ์ตูนทุกเรื่องที่เรามีโอกาสได้ดูมาจากอเมริกา เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ ครั้งแรกที่ผมได้รู้จักกับก๊วนพีนัตส์คือการ์ตูน Charlie Brown Christmas ที่ฉายทางทีวี...ผมรู้สึกว่าเด็กๆ ในหนังได้ใช้ชีวิตแบบที่พวกเราต้องการ - - ชีวิตที่มีความแปลกแต่สนุก ถ่ายทอดภาพในอุดมคติของเด็กชาวอเมริกัน มันค่อนข้างยากที่จะอธิบายว่าพวกเขามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อชีวิตผมอย่างไร ผมคิดว่าตัวละครที่ผมชอบคือสนู้ปี้ เยี่ยมที่สุด!” 



AVAF

Assume Vivid Astro Focus (AVAF) เป็นอีกชื่อของกลุ่มศิลปิน - - เอลี ซุดแบร็ก ศิลปินชาวบราซิลที่ไปทำงานในนิวยอร์ก และคริสตอฟ อาแม็ด เปียร์ซง ศิลปินจากปารีส ที่มักสร้างสรรค์ผลงานคู่ร่วมกัน ผลงานของ AVAF ครอบคลุมสื่อศิลปะหลายแขนง ตั้งแต่ภาพวาด อินสตอลเลชั่น วิดีโอ งานปั้น ไฟนีออน วอลล์เปเปอร์ และสติกเกอร์ โดยสื่อสารผ่านเรื่องราวของเพศ การเมือง และรหัสทางวัฒนธรรม ผ่านภาพแนวป็อป และสีสันแบบนีออน  เอลี เผยแรงบันดาลใจที่ได้มาทำงานกับโปรเจ็กต์ Peanuts ว่า “เป็นเกียรติที่ได้ทำงานกับตัวการ์ตูนพีนัตส์ ตอนเป็นเด็ก ผมคุ้นเคยกับการ์ตูนพีนัสต์มาก อ่านจากหนังสือพิมพ์รายวัน (ในบราซิล) ในส่วนโปรเจ็กต์ของผม ผมตั้งใจโฟกัสไปที่ภาพตัวการ์ตูนใน “อิริยาบถ” ต่างๆ (เช่น หกล้ม วิ่ง เล่นโรลเลอร์สเก็ต เล่นเซิร์ฟ เต้นรำ) เพราะผมคิดว่าการวมตัวระหว่าง AVAF และ Peanuts จะสร้างปฏิกิริยาที่มหัศจรรย์ มีพลัง เบิกบานใจ และน่าตื่นเต้นให้กับทุกคนที่ได้เห็น” ศิลปินหนุ่มที่ทำงานด้วยแอตติจูดแบบมีความสุข และมักคอลแลบผลงานร่วมกับนักดนตรี ดีไซเนอร์ แดนเซอร์ และอาร์ทิสต์คนอื่นๆ บอกว่า “ตัวการ์ตูนที่ผมชื่นชอบจริงๆ มี 2 ตัว คือเปปเปอร์มินต์ แพ็ตตี้ และสนู้ปี้ ผมเคยเลี้ยงหมาอยู่ตัวนึง แสนจะฉลาด สดใส น่ารัก และมีความบ้า ตอนโต ผมตั้งชื่อมันว่าสนู้ปี้”


ร่วมตื่นตาตื่นใจ สร้างแรงบันดาลใจ และค้นพบความแปลกใหม่ ผ่านผลงานศิลปะ creative สุด cute ที่ไม่เหมือนใคร และเปิดประสบการณ์ช้อปปิ้งสินค้าตระกูล Peanuts แบบจัดเต็มที่ งาน Peanuts Global Artist Collective จัดขึ้นครั้งแรกในเมืองไทย ที่สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่