BACK TO EXPLORE

Grow Up Paper สมุดโน้ตที่ทำให้ชาวนายิ้มด้วยความภาคภูมิใจ

ฟางข้าวที่เคยโดนทิ้งขว้าง มีคุณค่ามากกว่าที่คิด!

เราตื่นมากินข้าวทุกวัน แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจว่ากว่าจะมาเป็นเม็ดข้าวสวยๆ ชาวนาต้องใช้แรงกายแรงใจสุดชีวิต แล้วจะดีแค่ไหนถ้ามีคนเข้าไปเห็นคุณค่าสิ่งต่างๆ หยิบส่วนที่คนมองว่าไม่มีประโยชน์จากการปลูกข้าว เหลือทิ้งเป็นปัญหาขยะระดับชาติมาสร้างทั้งรายได้ให้เกษตรกรไทยและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสาวลำปาง นุ๊ก – จารุวรรณ คำเมือง ที่คิดไอเดียเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับของที่เคยโดนทิ้งขว้าง เหมือนกับสมุดและกระดาษโน้ตของ Grow Up Paper ที่รอเซอร์ไพร์สทุกคนอยู่ข้างใน


 

กระดาษฟางข้าว...แค่รดน้ำ ต้นอ่อนก็งอกขึ้นมาได้

ก่อนจะมาเป็นกระดาษฟางข้าว ความรู้ในเรื่องของการทำกระดาษของคุณนุ๊กเท่ากับศูนย์ ทุกอย่างมาจากการลองผิดลองถูกนานกว่า 3 ปี “เมื่อก่อนนุ๊กเป็นคุณครูสอนภาษาอังกฤษ ส่วนแฟนทำโรงงานอยู่ที่ระยอง เขาจะมีความรู้เรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ ส่วนเราสนใจเรื่องการตลาด นุ๊กกับแฟนมาอยู่ลำปาง เห็นปัญหาเผาฟางข้าว และได้เห็นทีมงานศิลปะสร้างสรรค์ เอาเปลือกทุเรียนมาทำกระดาษ แต่เราอยู่ภาคเหนือลองถามเขาว่าฟางข้าวเอามาทำได้มั้ย เขาก็บอกว่าทำได้ เราเลยหาข้อมูลหลายๆ แหล่ง ติดต่อหน่วยงานต่างๆ แล้วลงมือทำเลย ลองไปเรื่อยๆ ดูวิธีการทำกระดาษปกติ กระดาษสา แต่ปกติจะใช้ส่วนผสมเป็นโซดาไฟหรือคลอรีน แต่ความตั้งใจเราไม่อยากใช้สารเคมี ใช้เวลา 3 ปีจนออกมาเป็นกระดาษ non-toxic ไม่เหมือนกระดาษทั่วๆ ไป”

 

ฟางข้าวมีคุณค่า ไม่ต้องเผาอีกแล้ว

คุณนุ๊กเกิดและโตที่บ้านสามขาอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ความโชคดีของเธอคือได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติซึมซับและรักในบ้านเกิด เห็นคนในหมู่บ้านปลูกข้าวเป็นหลัก เข้าใจความยากลำบากของชาวนา แล้วฟางข้าวก็มีประโยชน์มากกว่าที่เคยเข้าใจ “เราไปที่นาแล้วขอซื้อฟางข้าว ชาวบ้านบอกว่าเอาไปเลย เพราะปกติต้องเผาหรือไม่ก็กองให้เน่าทิ้งอยู่แล้ว แต่เราไม่เอาฟรี เราคิดว่าฟางข้าวมีมูลค่าและอยากให้เขาเห็นคุณค่า เลยขอซื้อมาลองทำ ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าเราจะเอาไปทำอะไร”

“นอกจากกระดาษเรามองว่าพื้นที่ที่เราอยู่ มีเด็กๆ ออทิสติก เราก็อยากเปิดโอกาสให้เด็กพิเศษเข้ามาทำงานด้วย รวมทั้งชาวบ้านผู้สูงอายุ ถ้าสร้างตรงนี้ได้ คนในชุมชนมีรายได้ คนในหมู่บ้านไม่ต้องออกจากบ้านไปทำงานข้างนอกไกลๆ นุ๊กอยู่ในยุค 2 เจเนเรชั่น เราต่อยอดอาชีพบรรพบุรุษที่ทำมา ไม่ได้ไปเปลี่ยนอาชีพของเขาและต่อยอดสิ่งที่มี ให้คนรุ่นเก่ายังใช้ชีวิตแบบเดิม แต่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

 

ใส่เมล็ดพันธุ์เข้ามาในกระดาษ

หลังจากพัฒนากระดาษฟางข้าวแล้ว คุณนุ๊กได้รับโจทย์จาก สวทช. มาเพิ่มอีกว่าจะสามารถนำเมล็ดพันธุ์ที่เหลือจากงานวิจัยมาแมทช์กับกระดาษฟางข้าวได้หรือเปล่า “เราร่วมโครงการกับ สวทช. มีผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ด้านกระดาษจากเนเธอร์แลนด์ทำให้คิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้ ตอนแรกนำเอาเมล็ดถั่วฝักยาว ผักกวางตุ้งมาใส่ในกระดาษฟางข้าว ทดลองปลูกให้เติบโตโดยไม่ใช้ดิน เอากระดาษวางบนจานรดน้ำทุกวัน ในเวลา 7 วันถั่วฝักยาวโตได้อย่างรวดเร็ว ต่อมาใช้ต้นผักกาด คะน้าปลูกบนกระดาษเป็นต้นอ่อนแล้วค่อยนำไปลงดิน เป็น “สวนกระดาษ” ที่ต้นอ่อนจะแข็งแรงมากกว่านำเมล็ดไปใส่ในดินตั้งแต่ต้น”

ข้อดีของฟางข้าวคือย่อยสลายได้ ไม่ตกค้าง พอเอามาปลูกกับเมล็ดพันธุ์ให้สารอาหารจากฟางข้าวแบบไม่มีสารเคมีเจือปน เพราะเราเห็นชาวบ้านจะใช้วิธีปลูกกระเทียมกลบหน้าดิน เอาฟางข้าวรองหน้าดิน เพราะฟางข้าวอุ้มความชื้น มีสารอาหารช่วยบำรุงดิน กระดาษจากฟางข้าวของ Grow Up Paper จึงให้ประโยชน์กับต้นผัก บำรุงดิน ไม่ได้ย่อยสลายอย่างสูญเปล่าหรือ zero waste เลย คุณนุ๊กยังบอกอีกว่าถ้าลองเปรียบเทียบกระถางฟางข้าวปลูกต้นอ่อนข้าวสาลีกับกระถางที่ใช้สำลี ปลูกไปสำลีจะเกิดเชื้อรา แต่ฟางข้าวไม่มีวัชพืช ให้สารอาหาร ความชื้นอยู่ได้นาน ดังนั้นประโยชน์ฟางข้าวมีอยู่มากมายจริงๆ

 

รักธรรมชาติ เข้าใจเกษตรกร

ระหว่างที่คุยกันเรารับรู้ได้ถึงความตั้งใจที่ออกมาในทุกๆ ประโยคของคุณนุ๊ก บวกกับการได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่คนรุ่นก่อนได้หวงแหนเก็บเอาไว้ เป็นชีวิตเรียบง่ายที่คนเมืองหลายๆ คนคงต้องอิจฉา “นุ๊กเคยมาเรียนกรุงเทพฯ ก็ใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นทั่วๆ ไปค่ะ วันหนึ่งเรากลับบ้านไป เห็นต้นข้าว เห็นชาวนาที่ต้องอดทนมาก ไม่ว่าแดดออก ฝนตกก็ต้องทำงาน แค่เรายืนที่เถียงนายังรู้สึกทรมาน เห็นความลำบากตั้งแต่วันที่ต้นข้าวโต แล้วกลายเป็นฟางข้าวเอาไปเผาทิ้ง เกิดเป็นมลภาวะหมอกควัน จากหยาดเหงื่อแรงกาย ไม่คุ้มค่าที่จะต้องเสียส่วนนี้ไป นุ๊กอยากเห็นชาวนาภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ มันมากกว่าเงินทอง พอเขาเห็นกระดาษฟางข้าว นุ๊กเห็นรอยยิ้มของเขาเลย อย่างเวลาไปออกบูธต่างประเทศ พี่ๆ ลุงป้าน้าอาชาวนาก็รับรู้ว่าเป็นผลิตผลของเขา เขาเห็นว่าเราต่อยอดในสิ่งที่เขาทำมา”

“นุ๊กอยู่กับธรรมชาติแบบนี้มาตั้งแต่เกิด เห็นบรรพบุรุษที่ไม่ใช้สารเคมี เพราะเราเป็นพื้นที่ต้นน้ำ เวลาไฟป่ามาทุกคนจะรีบวิ่งไปดับ นอนในป่ากัน เป็นพลังความเสียสละ เราจะทำยังไงให้คนรุ่นหลังปกป้องเอาไว้  และในหมู่บ้านก็ปลูกข้าวเป็นหลักเป็นทั้งอาชีพ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ไม่ว่าข้าวจะถูกหรือแพงก็ต้องปลูกทุกปี ไม่ต้องซื้อข้าวใคร ข้าวก็ปลอดภัย ปลูกผักกินเองอีกหลังทำนา ในหมู่บ้านจะมีน้ำเก็บในอ่างเก็บน้ำตลอด และทุกคนช่วยกันออกกฎห้ามใช้สารเคมีในการทำการเกษตร เป็นจิตสำนึกของแต่ละคนที่พร้อมใจกันทำตาม ทุกอย่างซึมซับมาตั้งแต่เด็ก ตอน ม.1 เราได้ไปสร้างฝ่ายชะลอน้ำ พอมาเรียนกรุงเทพฯ ตั้งใจว่าเรียนจบยังไงต้องกลับไปทำงานในชุมชน อยู่กรุงเทพฯ อาจจะสบายกว่าสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับนุ๊กความสบายของเราคือได้อยู่กับธรรมชาติและครอบครัว” แรงบันดาลใจของนุ๊กทำให้เธอได้เดินทางไปลอสแองเจลิสนำเสนองานฟางข้าวนี้จนได้รับรางวัลที่ 1 ด้านการนำวัสดุเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ ล่าสุดได้ไปแสดงงานที่โปแลนด์ ทุกอย่างมาจากความตั้งใจที่จะช่วยโลก ช่วยพัฒนาชีวิตคนและสิ่งแวดล้อม

 

Grow Up Paper ที่คุณมาหาซื้อได้ที่ Ecotopia เท่านั้น!

ผลิตภัณฑ์ไฮไลท์ของแบรนด์ก็มีทั้งสมุดโน้ตที่มีเมล็ดพันธุ์พร้อมปลูกอยู่บนปก ใครที่อยากปลูกเลยก็สามารถฉีกกระดาษส่วนนั้นไปวางไว้ใต้ต้นไม้ในสวนที่บ้านหรือวางบนดินในกระถางแล้วรดน้ำทุกวัน ต้นอ่อนจะค่อยๆ งอกงามออกมา หรืออยากปลูกหลายๆ ต้น ก็มีเป็นกระดาษโน้ต 1 กล่อง มี 25 แผ่น จะบอกชนิดของพืชต้นนั้นอย่างเดียวและคละแบบที่รวมคะน้า กวางตุ้ง ฯลฯ ผสมกันไป ให้คนสงสัยว่ามีต้นอะไรบ้าง นอกจากจะซื้อไว้ใช้ให้เราอารมณ์ดีตอนเห็นต้นอ่อนขึ้นมาแล้ว ยังเป็นของขวัญดีๆ ที่น่ามอบให้คนอื่นด้วย ซึ่งใครสนใจก็สามารถมาดูได้ที่ Ecotopia ชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่

วันที่เราได้คุยกับคุณนุ๊กเป็นวันที่ทำให้เรารู้ว่าการรักษ์โลกไม่ใช่เทรนด์ แต่คือสายเลือดที่ใครพร้อมก็เริ่มทำก่อนได้ไม่ต้องรอกระแส “ถ้าอยากช่วยโลก ไม่ต้องเริ่มไกลตัว เริ่มจากชีวิตประจำวันง่ายๆ ให้ทำแล้วรู้สึกมีคุณค่าต่อตัวเอง แต่ละคนมีแนวทางของตัวเอง อย่าทำตามใคร แต่ทำเพราะตั้งใจที่จะทำ นุ๊กว่ายั่งยืนกว่ามากค่ะ”