BACK TO EXPLORE

Lukyang นักประดิษฐ์ที่ใส่ดีไซน์ให้โลกแอบยิ้มกับมุมมองเก๋ไก๋ของเขา

ไอเดียที่เริ่มต้นด้วยความสงสัยและทดลองจนชนะรางวัลระดับโลก

ชื่อแบรนด์ที่แปลกและติดหูอย่าง Lukyang ซึ่งมาจากชื่อของดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์สุดครีเอทีฟ คุณลูกยาง – วีรพล วงศ์เทวัญ เขาคือชายหนุ่มที่สร้างงานขึ้นมาจากความสงสัยและค่อยๆ พัฒนาออกมาเป็นความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มพลังความรักษ์โลกเข้าไป เกิดเป็นผลงานสุดปังอย่างปากกาจากหลอดทดลอง หรือปฏิทินปลูกผักที่เข้าตาคณะกรรมการงานออกแบบระดับโลกจนทำให้เขาได้รางวัลและเป็นที่สนใจของคนชอบงานมีสไตล์


ใครจะรู้ว่าหนุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ไฟแรงคนนี้ไม่ได้ตั้งใจเลือกเรียนเกี่ยวกับงานดีไซน์มาก่อน ไม่รู้ตัวเองจะไปทางไหน แต่เริ่มได้ลองเรียนแล้วเลยรู้ว่าสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์น่าจะทำอะไรได้หลายอย่าง เมื่อจบจากมหาวิทยาลัยรังสิต คุณลูกยางออกมาทำงานเป็น Product Designer ทำงานเน้นความคิดครีเอทีฟและใช้ความคิดเชิงบวกผสมเข้าไปในงาน ทำอยู่ปีกว่าๆ จึงออกมาเรียนต่อด้านธุรกิจ “ตอนเป็นดีไซเนอร์ เราออกแบบงานออกมาแล้วไม่รู้ว่าต้นทุนสูงหรือเปล่า งานอาจจะผ่าน แต่โปรดักชั่นไม่ผ่าน เพราะราคาสูงเกินไป คาดการณ์แล้วกลัวจะขายไม่ได้ พอเรียนเพิ่มเลยรู้ด้านมาร์เก็ตติ้งและต้นทุนมากขึ้นครับ”

 

เริ่มศึกษาและเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้ 

ระหว่างที่เรียนปริญญาโท คุณลูกยางทำงานเป็นที่ปรึกษาดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง ทำเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นแล้วเปลี่ยนสถานะตัวเองเป็นดีไซเนอร์ UX/UI ตอนที่ฟังครั้งแรกอาจจะรู้สึกว่าได้ก้าวเข้าไปกับอีกสายงานเทคโนโลยีไปแล้ว แต่จริงๆ ไม่ว่าจะงานออกแบบผลิตภัณฑ์หรือคนออกแบบ UX/UI หน้าเว็บหรือแอพฯ ต้องมาจากพื้นฐานเดียวกันคือวิจัยและศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้ให้มากที่สุด “ปี 2013 ที่เริ่มทำยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก เราคิดว่าแปลกดี มีพี่ชวนเข้าไปทำ ก็ทำไปด้วยเรียนไปด้วย แล้วทำงานของตัวเองไปด้วยแต่ยังไม่จริงจัง ทำปากกาจากหลอดทดลองออกมาขายเล่นๆ ก็เริ่มขายได้ เป็นรูปเป็นร่างมากในขึ้นช่วงปี 2014 และมาได้ฟีดแบ็กดีๆ คือปฏิทินปลูกผักที่ทำในปี 2015 ผมลองส่งประกวดจนได้รางวัลเป็นที่สนใจของสื่อและคนที่เห็นโปรดักท์ ทำให้มีวางขายบนออนไลน์ขึ้นมาก่อน”

 

วิธีคิดงานแต่ละชิ้นเกิดขึ้นจาก...

ปากกาหลอดทดลอง Test Tube-Pen – “เห็นหลอดทดลองแล้วคิดว่ามีอะไรน่าสนใจ คงเอามาทำอะไรได้ ลองเอามาคิดเรื่อยๆ ไม่ได้คิดว่าต้องเป็นปากกาลองเอาของรอบตัวมามิกซ์ เป็นการทดลองด้วยการเอาไส้ปากกาใส่แล้วเอากระดาษม้วนๆ จากนั้นลองปรับวัสดุจากกระดาษเป็นไม้ ได้รูปทรงน่าพอใจ เลยลองขายแล้วขายได้ ชิ้นนี้งานเป็นกึ่งแฮนด์เมดใช้ช่างฝีมือทำจริงๆ”




ปฏิทินปลูกผัก Let’s Grow Plants – “ผมคิดจากปฏิทินหมดปีแล้วเราก็ทิ้ง ผมอยากให้ปฏิทินเป็นสิ่งที่คนเอาไปเล่นได้ต่อ เป็นกิจกรรมที่ใช้ให้คุ้มค่า โดยการคิดว่ากิจกรรมเป็นเกม ใส่ผักลงไป เล่นเป็นเดือน พอหมดเดือนในซองมีเมล็ดผัก 12 ชนิด หมดหนึ่งเดือน ฉีกไปหนึ่งซองหรือรอสิ้นปี ฉีกไปปลูกผักต่อ ใช้ปฏิทินให้คุ้ม ยืดระยะเวลาการใช้ แต่ละเดือนผมจะใส่เมล็ดผักในฤดูกาลช่วงนั้นๆ เช่น เมษายนเป็นผักกวางตุ้ง สิงหาคมเป็นกะหล่ำปลี ธันวาคมเป็นผักชี” และงานชิ้นนี้ทำให้เขาได้รับรางวัล Demark มาครองด้วย




โปสการ์ดปลูกผักทำอาหาร Let’s Plant Postcard – “เป็นสเต็ปความคิดของผู้ใช้ พอปลูกผักแล้วจะมาเป็นเมนูอะไร ผมต่อยอดซีรีส์เดิมเป็นปลูกผักเพื่อทำอาหารไทย เลยจะคิดโปสการ์ดที่ขายได้ตลอดทั้งปี ยังคงคอนเซปท์เดิม สร้างกิจกรรมให้ผู้ใช้ สามารถซื้อโปสการ์ดแล้วให้คนอื่นปลูกผักต่อก็ได้ ผมใส่ QR Code วีดีโอทำอาหารกับผักชนิดนั้นขึ้นมาด้วย วีดีโอก็โปรดักชั่นกันเอง เป็นงานกิมมิคคอนเซปต์ โปสการ์ดทั่วไปมีรูปภาพแต่นี่มีเมล็ดผัก คุณจะปลูกผักอย่างเดียวก็ได้ หรือดูวีดีโอทำอาหารไปด้วยก็ได้” ซึ่งซีรีส์นี้ก็ทำให้เขาได้รางวัล Demark และ Good Design Awards จากประเทศญี่ปุ่นเลยนะ


คุณลูกยางบอกว่าความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการใช้เซนส์แล้วทดลองโปรโตไทป์ต่างๆ ว่าแบบไหนโอเค มีเวลาก็ทำ อันไหนไม่โอเคก็พักไว้ก่อน จากนั้นก็เข้าไปหาความรู้ที่ TCDC บ้าง อย่างเมื่อต้นปีมีการทดลองทำกระดาษจากเปลือกมังคุด และต้นปอเทืองดอกสีเหลืองซึ่งชาวนาปลูกคั่นไว้เพื่อรักษาสภาพหน้าดิน นำมาทำเป็นกระดาษวางขายในงาน Bangkok Design Week 

“ถ้าผมมีเวลาว่างก็จะทดลองทำเป็นงานอดิเรก เพราะผมมีงานดีไซน์เซอร์วิสเป็นหลัก รับทำแบรนดิ้ง โลโก้ แพคเกจจิ้ง ตอนเรียนปริญญาโท เราเอาดีไซน์มารวมกับธุรกิจ ผมรู้ว่าถ้าทำธุรกิจเองไม่น่าไปไกลมาก เพราะเราไม่ได้เป็นนักธุรกิจโดยตรง แต่เรียนให้มาหนุนด้านดีไซน์ ผมเลยเอาด้านธุรกิจมาช่วยคนอื่นทำ ถ้าใครอยากทำผลิตภัณฑ์สอดคล้องกับคอนเซปท์ของเค้า ใช้ความรู้ด้านธุรกิจมาด้วย”

 


“กลุ่มคนใช้ของผมค่อนข้างเล็กมากเพราะเป็นของแนวไลฟ์สไตล์ แบรนด์ Lukyang เลยเป็นงานอดิเรกเป็นความสุขเล็กๆ ระบายออกมาให้คนได้เสพงานของเรา เรารู้ว่าทำยังไงให้คนชอบของของเรา นี่คือหน้าที่ของดีไซเนอร์ที่ให้คนทั่วไปรู้สึกใช้ง่ายที่สุด ต้องใช้กระบวนการความคิดเยอะมาก มันไม่ใช่ของผลิตโรงงานแต่ใช้ความประณีต เป็นฝีมือของช่างที่เราไม่อยากไปกดราคาที่มาจากความเหนื่อยของเขา ส่วนที่เหลือคือความเหนื่อยของเรา แต่ละส่วนที่ทำงานออกมาก็มีความยากเป็นของตัวเอง”

 




ถ้าได้มาเห็นผลงานของ Lukyang ที่ ODS สยามดิสคัฟเวอรี่ จะรู้สึกได้ว่าไม่ใช่แค่นำของแปลกใหม่มาทำเป็นสินค้า แต่คุณลูกยางยังใส่ความเป็น Eco รักษ์โลกเข้ามาด้วย “เราอยากคิดโปรดักท์ที่มีเรื่องราว อาจไม่ได้มีประโยชน์ใช้งานมาก อยากสร้างคุณค่าสะท้อนถึงสิ่งแวดล้อม สร้างโปรดักท์ที่ไม่ได้ทำจากพลาสติก ปากกาใช้ไม้จุกก๊อกไวน์รับมาจากโรงแรม เพราะทุกโรงแรมมีบาร์ เวลาลูกค้าเปิดไวน์ จุกก๊อกต้องทิ้ง ผมก็รับมารียูสต่อเป็นส่วนประกอบเป็นปากกา เป็นของเหลือใช้ เราไปรับมาก่อนที่จะกลายเป็นขยะ พยายามรีเสิร์ชว่าหาได้ที่ไหน ก็เจอเพื่อนที่ทำงานด้านนี้ด้วยพอดี”


เห็นความคิดของชายหนุ่มดีไซเนอร์คนนี้แล้วต้องบอกว่าเขาไปได้ไกลมาก ไกลเหมือนกับชื่อ “ลูกยาง” ที่มีความหมายว่าลูกไม้ที่หล่นไกลต้น เตรียมรอพบกับไอเดียที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งของเขากันได้ที่ ODS ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่