BACK TO EXPLORE

A Girl Who Take Care of The Boys

A Girl Who Take Care of The Boys
พูดคุยกับสองดีไซเนอร์ผู้หญิงที่เลือกนำเสนอมุมมองต่อเสื้อผ้าผู้ชาย




ในหัวข้อฝั่ง Style Makers ที่เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจ็กต์ Meet The Dream Makers ของสยามดิสคัฟเวอรี่ตอนนี้ พูดถึงบรรดาแฟชั่นดีไซเนอร์เมืองไทยที่มีชื่อเสียง จากการสั่งสมผลงานและทำตามเป้าหมายความสนใจต่อเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในแบบฉบับแต่ละคน ทั้งหมดทั้งปวงมีสองแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายที่เราสนใจและอยากพูดถึง เพราะเป็นแบรนด์เสื้อผ้าของผู้ชายที่เกิดขึ้นโดยฝีมือดีไซเนอร์ผู้หญิง การออกแบบและความเข้าใจภายใต้ขอบข่ายของเพศ เพื่อผลงานที่ออกมาแล้วน่าสนใจขนาดนี้ อยากรู้กันว่าพวกเขามีไอเดียและได้แรงบันดาลใจจากไหนกัน





เราเริ่มกันที่ SSAP แบรนด์เสื้อผ้าฝีมือ คุณแม้ว ที่มีผลงานเสื้อผ้าทั้งฝั่งผู้ชายและผู้หญิง จุดเด่นคือการเลือกใช้วัตถุดิบธรรมชาติที่มีคุณภาพและการออกแบบเป็นเสื้อผ้าใส่จับคู่ง่ายได้ทุกโอกาส กลายเป็นที่พูดถึงกันทั้งในและต่างประเทศ แบรนด์ถือกำเนิดที่ประเทศอเมริกาในขณะที่เธอกำลังเรียนต่อ หลังจากตัดสินใจหยุดอาชีพตัวเองที่เคยทำ และพุ่งเข้าหาความสนใจเรื่องแฟชั่นดีไซน์โดยเฉพาะ เป็นต้นตอที่เติมต่อมาจนเป็น SSAP ทุกวันนี้ และผลงานที่เราเลือกพูดคุยเป็นพิเศษคือ โปรเจ็กต์ที่นำเสนอผ้าย้อมครามชื่อว่า “Sakol Project” หรือ “สกล” มาจากจังหวัดสกลนคร ที่ๆ เธอได้ศึกษาและทำความเข้าใจลึกยิ่งขึ้นไปกับกรรมวิธีย้อมผ้าคราม

“จากที่เราก็เห็นว่ามีเทรนด์ของอินดิโก้เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา มีหลายแบรนด์เลย โดยเฉพาะจากฝั่งญี่ปุ่นจะเยอะหน่อย ที่ทำผ้าย้อมอินดิโก้ออกมาเป็นที่สนใจของตะวันตก” เธอกล่าวต่ออีกว่า “มันพอดีกับที่พอเราเริ่มทำเสื้ิอผ้าขายตอนเรียนอยู่ที่นู่น แล้วเราเริ่มกลับมาไล่มองของที่ประเทศเรามีอยู่ แต่ยังขาดการนำเสนอก็เลยสนใจ พยายามศึกษาหาข้อมูล เกิดเป็น Sakol Project ขึ้นมา”




ปัจจุบัน Sakol Project กำลังเป็นที่สนใจจากบรรดาคนรักเสื้อผ้าย้อมครามในเวลานี้อย่างมาก เนื่องจากจุดเด่นที่ไล่ตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบเนื้อผ้าที่เธอตั้งใจคัดเลือกและใส่ใจทุกๆ รายละเอียด โดยชูองค์ประกอบของภูมิปัญญาท้องถิ่นออกมาอย่างไม่ตกหล่น การทอมือที่ใช้ฝีมือและประสบการณ์ของคนไทยแท้ๆ มีความพิเศษในทุกๆ ตัวแตกต่างกันออกไป นอกจากเรื่องสำคัญเหล่านี้แล้ว สิ่งที่ทำให้ Sakol Project ของ SSAP นำหน้าขึ้นมากว่าใครเพื่อนคือ ไอเดียของการออกแบบเสื้อผ้าผู้ชายที่เกิดจากความเข้าใจของผู้หญิง

“หลักๆ เราว่าเราคิดอย่างเดียวเลย ว่าเราจะทำเสื้อผ้าที่เราอยากให้ผู้ชายแบบที่เราชอบใส่ (หัวเราะ) แต่เราเชื่อแบบนั้นจริงๆ นะ ถ้าคนไหนเรามองว่าเท่ แบบที่เราเห็นแล้วก็รู้สึกว่าดูดี สุดท้ายมันจะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงเสื้อผ้าในแบบของเราท่ีเราชอบและอยากทำ คือเสื้อผ้าผู้ชายมันมีความท้าทายตรงที่ เวลามองผ่านๆ มันมีอะไรให้มองอยู่ไม่เยอะมาก แต่เบื้องลึกลงไปมันมีเรื่องดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ที่สร้างความต่างขึ้นมาได้ เหมือนคนใส่เสื้อยืดขาวกับกางเกงยีนส์ ทำไมบางคนใส่แล้วดูดี บางคนใส่แล้วธรรมดา จะเป็นที่ขนาดของขากางเกง หรือการตัดเย็บของเสื้อยืด เราก็เอาพวกดีเทลเหล่านี้ที่เราเห็น และชอบนี่ล่ะ มาเป็นส่วนประกอบของการทำเสื้อผ้า”




ในรูปข้างบนนี้คือ Jacket สีอินดิโก้ งานชิ้นใหม่ล่าสุดจาก Sakol Project ที่เธอหยิบติดมือมาพอดี จากแรงบันดาลใจหลัก ที่เธออยากทำ Working Jacket ที่เหมือนสไตล์คนขับรถบรรทุกของอเมริกันใส่กัน จากการสังเกตแล้วก็เห็นว่า จุดเด่นส่วนเม็ดกระดุมที่เป็นของเล็กๆ บนเสื้อ แต่ให้ความรู้สึกดูเป็น Workwear ขึ้นมาแทบจะทั้งชุด รวมถึงการได้ลองศึกษาขั้นตอนการย้อมผ้าครามที่สกลนคร เมื่อได้ลองพบปะกับคนท้องที่ พบว่าแต่ละอำเภอแต่ละหมู่บ้าน รายละเอียดของการย้อมผ้าครามจะโดดเด่นต่างกัน การใช้แพทเทิร์นที่เป็นเหมือน Patchwork ผ้าตัดปะ รวมกับความเข้มของการย้อมสีต่างๆ มาไว้ด้วยกัน เสื้อตัวนี้ที่เรามองครั้งแรกก็สัมผัสได้ถึงความละเอียดทั้งคนคิดออกแบบและคนทำ

สามารถพบกับผลงานของ Sakol Project จาก SSAP ได้ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ชั้น 1 โซน CAZH

 




ดีไซน์เนอร์ผู้หญิงคนต่อมาของเรา คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์รองเท้า Walk-In Shoes เราพูดคุยกับ คุณปุ๋ย ที่ผลงานของเธอกำลังเป็นตัวเลือกใหม่สำหรับการเลือกซื้อรองเท้าคู่ใจสักคู่ จุดเด่นของแบรนด์ Walk-In Shoes อาจจะตรงตามชื่อแบรนด์เลยก็ว่าได้ ความรู้สึกของการสวมใส่เดินไปกับรองเท้าคู่ใดคู่หนึ่ง สิ่งที่พิเศษก็คือ นี่คือแบรนด์รองเท้าที่นอกจากจะมีผลงานเป็น Ready to Wear ออกมาให้เลือกซื้อแล้ว ผู้ซื้อยังสามารถเลือกสั่งตัดรองเท้าแบบ Customize ที่ความต้องการขึ้นอยู่กับตัวของผู้ซื้อเองได้อีกด้วย ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกหนังและรูปทรงที่ทาง Walk-In Shoes จะมีแพทเทิร์นเตรียมเอาไว้ให้คร่าวๆ ทั้งหมดเกิดจากความต้องการตั้งแต่แรกเริ่มในการเริ่มทำแบรนด์ Walk-In Shoes




“ไอเดียของ Walk-In Shoes เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ ทั้งหมดที่เราทำมันคือรองเท้าที่เราเชื่อว่า ถ้าเราใส่เอง ก็จะใส่แล้วสบาย และชอบรูปลักษณ์ของมันด้วย คำว่ารองเท้าที่ดีสำหรับเราไม่มีความตายตัว มันคือความเข้าใจกันระหว่างตัวรองเท้าและผู้ใส่ ก็เลยเกิดทางเลือกของการ Customize ขึ้นมาเลย ถึงแม้ลูกค้าจะเป็นคนออกแบบเกือบทั้งหมด แต่เราก็สนุกที่ได้มองเห็นวัตถุดิบหนังของเราถูกนำมาใช้ประกอบในแบบใหม่ๆ ต่างกันออกไป”

การทำรองเท้าของ Walk-In Shoes ตั้งใจที่จะทำให้ออกมาเป็นแบบ Unisex กล่าวคือ ไม่มีการจำกัดความชอบ สามารถใส่ได้ทั้งชายและหญิง เราจะได้เห็นรองเท้าทรงคล้ายกับรองเท้าหนัง Oxford ก็มีไซส์ให้ลองใส่ได้ทั้งสองแบบ เราสอบถามถึงผลงานใหม่ที่กำลังจะออกมา




“ตอนนี้ Walk-In Shoes หลักๆ จะยังคงเป็นแบรนด์ทำรองเท้าหนัง เพราะเราชอบวัสดุชนิดนี้ และเชื่อว่าเรามั่นใจในคุณภาพวัตถุดิบของเรา ส่วนทรงหรือแบบของรองเท้าก็ยังจะคงเป็นแบบที่คลาสสิกตลอดกาล อย่าง Oxford / Loafers ที่เราชอบ และอยากให้ผู้หญิงมีรองเท้าแบบนี้ดีๆ ใส่กันอีก แต่ส่วนที่เราเห็นตัวเองชัดเลยคือ การลองเอาวัสดุแปลกๆ มาใช้ หรือมาผสมกัน เช่น หนังเงา Metallic มาใช้ที่เราไม่ค่อยเห็นงานรองเท้าแบบนี้ออกมา พอทำออกมาก็มีผลตอบรับอยู่บ้างเช่นกัน หรือล่าสุด เราเอาพื้นรองเท้าผ้าใบมาประกอบกันกับตัวรองเท้า Loafer ใส่ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ลองทำออกมาให้คนลองใส่กันดูด้วย”

ตามที่พูดคุยไปข้างต้น สรุปได้เหมือนกันว่า ก้าวต่อไปของ Walk-In Shoes นอกจากจะเดินมาถึงการเป็นผู้ช่ำชองเรื่องการทำรองเท้าแบบเฉพาะตามความต้องการของคนใช้งานเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่จะทำให้ผลงานของเธอทิ้งห่างกับใครเพื่อนคือ ความกล้าในการทดลองและการแสดงออกที่คุณปุ๋ยลองทำออกมา อย่าง Loafer พื้นรองเท้าวิ่ง หรือ การใช้หนังสีแรงๆ ทั้งแบบเงาและด้านบนรองเท้าที่โดยรวมเป็นความกึ่งทางการ แต่ก็ยังมีความสนุกของ Walk-In Shoes นี่เป็นตัวอย่างชัดเจนของความใส่ใจต่อผลงานที่แท้จริง

สามารถมาลองและสั่งตัดรองเท้าของ Walk-In Shoes ได้ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ชั้น 1 โซน CAZH

YOU MAY ALSO LIKE