BACK TO EXPLORE

Tube Gallery ทำให้แฟชั่นและวัฒนธรรมรวมกันออกมาเป็นเสื้อผ้าสุดอลัง!

Tube Gallery ทำให้แฟชั่นและวัฒนธรรมรวมกันออกมาเป็นเสื้อผ้าสุดอลัง!
สองดีไซเนอร์ที่ลืมทุกกฎเกณฑ์ของการออกแบบแต่สวยอย่างน่าจดจำ

ร้าน Tube Gallery บนชั้น 1 สยามเซ็นเตอร์จะเหมือนเราเข้าไปในแกลเลอรี่เก๋ๆ ซักแห่งในยุโรป จุดเริ่มต้นของ Tube Gallery จริงๆ เราได้ไปถามเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากคุณยุ่ย – พิสิฐ จงนรังสิน ที่เล่าได้อย่างลึกซึ้งและอบอุ่นว่ามาจากการเป็นเพื่อนกับคุณเต้ – ศักดิ์สิทธิ์ พิศาลสุพงศ์ ตั้งแต่ ป.1 จนก่อร่างสร้างแบรนด์มาด้วยกันจนประสบความสำเร็จ

“แบรนด์เราเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1999 แต่ให้เท้าความกลับไปพี่กับพี่เต้เป็นเพื่อน ป.1 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพ พอเรียนจบพี่เองไปต่อที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พี่เต้ไปเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ต่างคนต่างเรียนหนังสือกันไป พี่เต้ไปเรียนต่อสาข Theatre Directing ส่วนพี่ได้ทำร้านเสื้อชื่อว่า Burger Queen มาตอนปี 2540 ค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ พี่มีโอกาสบินไปเที่ยวหาพี่เต้ที่อังกฤษ เลยชวนกันว่าทำแบรนด์ด้วยกันมั้ย ตอนนั้นก็ตัดสินใจทำเลย คิดว่าจะตั้งชื่ออะไรดี คิดโน่นคิดนี่ มาสะดุดตอนที่เราได้ขึ้นรถไฟใต้ดินในลอนดอนที่เรียกว่า tube ที่อื่นอาจจะเรียน metro หรือ underground พอได้รับการเชิญชวนให้มาเปิดแบรนด์ที่สยามเซ็นเตอร์ เราเริ่มต้นด้วยชื่อ Tube เป็นเรดดี้ทูแวร์ หาหนทางจนวันหนึ่งได้โอกาสที่หยิบยื่นจากพี่กุ๊กกี้ ทินกร อัศวรักษ์ เป็นผู้จัดอีเวนท์ใหญ่ที่สุดสมัยนั้น ทำมินิคอลเลคชั่นประมาณ 20 ชุดให้กับผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม แล้วปรากฎว่าลูกค้าตอบรับดีมาก ทุกอย่างขายหมดเลย เป็นสิ่งที่ทำให้เราฉุกคิดว่านี่อาจเป็นสิ่งที่เราชอบหรือเปล่า อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่เสื้อผ้าธรรมดา ย้อนกลับไป 16-17 ปีที่แล้ว เรามาแนว maximum ในขณะที่ทุกคนเป็น minimalism”


Tube Gallery กับการไร้กฎเกณฑ์
พี่ยุ่ยบอกว่าถ้าเสื้อผ้าชุดนั้นเป็นสิ่งที่อยากทำก็จะทำขึ้นมาทันที บางครั้งมีแค่ชิ้นเดียว ทำแล้วไม่ทำอีก ดังนั้นถ้าชอบ ลูกค้าจะไม่รีรอที่จะซื้อเลย “ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเข้ามาบอกว่าเสื้อผ้าแปลกดีนะ เราเลยมาคุยกันว่าเสื้อผ้าแบรนด์เราต้องไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ไม่ได้ตามไบเบิ้ลแฟชั่น เข้ามาร้านเราแล้ว เสื้อผ้าเหมือนจัดอยู่ใน exhibition เราเลยเรียกว่า Gallery ถึงไม่ซื้อ เข้ามาดูเสื้อผ้าก็ได้ ตั้งแต่นั้นมาเราเปลี่ยนจาก Tube เป็น Tube Gallery ซึ่งเสื้อผ้าของเราเป็นได้ทุกอย่าง เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง เป็นเหมือน Occasional Wear ใส่ตามโอกาสต่างๆได้ ความเป็นทูบเลยอะไรที่ไม่น้อย มีเรื่องของงานปัก งานฝีมือ ครีเอทีฟและไม่มีถูกหรือผิด”

เราถามคุณยุ่ยต่อว่าในยุคนั้นคงไม่มีโซเชียลมีเดีย เอาไว้โชว์มีไว้แชร์ แต่ Tube Gallery ก็ฝากผลงานแบบปากต่อปากในความวิจิตรอลังการ สวยเลอค่ามากจริงๆ คุณยุ่ยตอบว่าคนจะรู้จัก Tube Gallery จากแฟชั่นโชว์ ไม่ว่าจะของสยามเซ็นเตอร์หรือไปเวทีแฟชั่นระดับโลก แบรนด์ก็เป็นที่ยอมรับเสมอ “เราเป็นที่กล่าวถึงทำให้คนรู้จักมากขึ้น คนจะรู้ว่า Tube Gallery มีโชว์เมื่อไหร่ จะสนุก น่าค้นหา มั่นใจได้ว่าโชว์จะมีอะไรมานำเสนอ เพราะรู้ว่าเรากล้าเล่นสี ไม่มีกฎว่าชุดหนึ่งจะต้องไม่เกิน 3 สี คอลเลคชั่นของเราอาจจะมี 7 สี 12 สีก็ได้ พี่กับพี่เต้ไม่ได้เรียนแฟชั่นมา แต่เราจบมาในเรื่องการแสดงและบัลลเต์ เลยเอาสิ่งที่เคยเรียนมาทำเป็นดรามาติกแฟชั่นให้เกิดขึ้น นี่เลยเป็นคีย์เวิร์ดที่ทำให้เกิด Tube Gallery ขึ้น”


การเดินทางสร้างแรงบันดาลใจ
เราถามว่าความละเอียดและสีสันในการออกแบบเกิดขึ้นได้ยังไง คุณยุ่ยตอบได้อินสไปร์มากว่าเกิดจากการเดินทาง วัฒนธรรม เพลง ศิลปะ เรื่องราวที่มีคนเล่ามา แบรนด์จะยึดวัฒนธรรมเป็นหลักในการออกแบบ “พี่กับพี่เต้อาจจะมีบางสิ่งที่เคยเจอร่วมกัน เช่น พี่เคยเรียนที่เกียวโต พี่เต้ก็เคยไปเที่ยวเกียวโต ต่างคนต่างเคยไปแล้วเรามีจุดที่แต่ละคนชอบ เราเอามาแชร์มาเขย่าร่วมกัน เคยไปที่นี่แล้วสวย หรือไปพร้อมกันในกลุ่มเพื่อน เราเอาภาพเดียวกันมาเป็นคอลเลคชั่น เช่น วัดเชียงทองที่หลวงพระบาง จะมีภาพประติมากรรมหลังวัด เราเอามาขยายเป็นคอลเลคชั่น ไปเดินตลาดเห็นตะกร้าจักรสานเอามาขยาย เราเอาการเดินทางและวัฒนธรรมมาบอกเล่า เราเคยได้ร่วมงานกับศิลปินชาวเบลเยี่ยมอย่าง คริสเตียน เดเวลเตอร์ เรานำภาพเพ้นท์ของเขามาใช้ เพราะตอนนั้นอยากทำเรื่องราวเกี่ยวกับพม่า ได้เจอกับคริสเตียนและเห็นรูปเพ้นท์ผู้หญิงชนเผ่าคะฉิ่นที่แท็ตทูบนใบหน้า เป็นคอลเลคชั่นที่ได้คอลลาบอเรตจากภาพที่อินสไปร์ขึ้นมา”

“จริงๆ ยังมีอีกหลายอย่างที่เราอยากทำ เวลาที่เราเห็นอะไร เราต้องเอากลับมาย่อยให้ตกผลึก เป็นตัวของตัวเองออกมาสร้างแรงบันดาลใจ เพราะเราวาดภาพไม่ได้หยิบแม่สีมาป้ายลงได้เลย เราเอาแม่สีมาผสมเบรคไปมาจนกลมกล่อมเป็นภาพวาดที่สวยแล้ว”


ผู้หญิงและผู้ชายในแบบ Tube Gallery
นิยามของแบรนด์คือคนที่รักและกล้าที่จะแต่งตัว ไม่กลัวที่จะโดดเด่น คุณยุ่ยบอกว่าใส่เสื้อผ้าของ Tube Gallery เมื่อไหร่เหมือนมีไฟสปอตไลท์ฉายลงมาตลอดเวลา การพัฒนาในการตัดเย็บในแต่ละซีซัมก็ต่างกัน ซีซันนี้อาจจะตัดเย็บแขนเล็ก ซีซันหน้าช่วงแขนอาจจะใหญ่ขึ้น เดรสที่เป็นเอกลักษณ์ก็จะใส่รายละเอียดเข้าไป มีเรื่องของงานปัก งานฝีมือ แพทเทิร์นและโครงสร้างเสื้อที่แปลกๆ ยิ่งคนต่างชาติจะรู้จักแบรนด์จากงานเย็บปักถักร้อยและเรื่องฟอร์มต่างๆ ได้รับเสียงตอบรับดีมาตลอดในปารีส แฟชั่น วีค รวมทั้งแฟนคลับเหนียวแน่นจากแถบยุโรป ตะวันออกกลาง รวมทั้งเอเชียก็มีทั้งไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์มาเก๊า นี่คือฝันที่ Tube Gallery จะไปให้ทัดเทียมกับแบรนด์ไฮเอนด์ให้ได้ และเราเชื่อว่าต้องทำได้อย่างแน่นอนในอีกไม่ช้า

 

ถ้าใครอยากมาสัมผัสถึงความละเอียดละออในเสื้อผ้าของแบรนด์ Tube Gallery ขอให้ได้มาลองที่ร้าน ใส่แล้วต้องรู้สึกมั่นใจ และสัมผัสได้ถึงข้อความที่แบรนด์อยากบอกออกไปกับลูกค้าในทุกๆ ชิ้น


Tube Gallery Presented by TAT
คอลเลคชั่นสปริง ซัมเมอร์ 2018 นี้คุณเต้ ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์ของแบรนด์บอกเล่าออกมาเป็นโชว์ในงาน Bangkok International Fashion Week 2018 ในชื่อ Bohelennial ย้อนไปในยุคบุปผาชน ฮิปปี้มาผสมผสานออกมาเป็นลายพิมพ์ดอกไม้ พันธุ์ไม้ สีสันที่บอกถึงความเป็นชนเผ่า ชุดของผู้ชายที่ตัดเย็บขึ้นมามีเพียงชิ้นเดียวซึ่งเป็นชิ้นที่ตัดขึ้นมาเป็นพิเศษ และคอลเลคชั่นนี้จะไม่มีการทำซ้ำขึ้นมาอีกแล้ว ดังนั้นจับตาให้ดีว่าจะมีดีไซน์อะไรให้เห็นบ้าง ซึ่งโชว์ของ Tube Gallery จะมีขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม 2561 ที่ลานพาร์คพารากอน ใครที่ไม่มีบัตรเข้างาน สามารถติดตามได้ที่ Facebook : SiamCenter

YOU MAY ALSO LIKE