BACK TO EXPLORE

ประพาสต้นบนดอย ก่อกำเนิดโครงการหลวง ดอยคำ ธุรกิจเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ประพาสต้นบนดอย ก่อกำเนิดโครงการหลวง ดอยคำ ธุรกิจเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

พวกเราต่างเคยได้ยิน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มามากมายจำนวนหลายพันโครงการ หนึ่งในนั้นล้วนเป็นโครงการซึ่งริเริ่มขึ้นด้วยความตั้งใจเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรที่อยู่ห่างไกลในด้านการพัฒนาความเป็นอยู่อย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน และหากจะกล่าวถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งพวกเราทุกคนมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแล้ว คงต้องมีชื่อ “โครงการหลวง” อยู่ด้วยแน่นอน สยามดิสคัฟเวอรี่ขอน้อมนำเรื่องราวเกี่ยวกับ “โครงการหลวง” มานำเสนอในวาระนี้ เพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า



โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา

“เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขา เพื่อจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถที่จะเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้ของเขาเอง ที่มีโครงการนี้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือ มนุษยธรรม หมายถึง ให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร สามารถที่จะมีความรู้และพยุงตัว มีความเจริญก้าวหน้าได้ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วยเพราะเป็นปัญหาใหญ่คือ ปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าสามารถช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้าง เขาจะเลิกปลูกยาเสพติด คือฝิ่น...”
พระราชดำรัสในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมคณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 10 ม.ค. 2517

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา “โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” โครงการริเริ่มก่อนจะเป็น “โครงการหลวง” ในปัจจุบันจึงถือกำเนิดขึ้น จากเมื่อครั้งเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ และทรงทอดพระเนตรความทุกข์ยากลำบากของราษฎรบนดอย รวมถึงปัญหาการปลูกฝิ่นในพื้นที่ทางภาคเหนือ อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

โดยมีเป้าหมายในการดำเนินงานหลักๆ เพื่อช่วยเหลือชาวเขาในพื้นที่สูงทางภาคเหนือให้ได้มีความรู้และอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เป็นการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม ช่วยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่าไม้และต้นน้ำลำธาร กำจัดการปลูกฝิ่น รักษาดินและการใช้พื้นที่ป่าให้อยู่ส่วนป่า การทำไร่ทำสวนก็ให้อยู่ในพื้นที่เพาะปลูก ถือเป็นการพัฒนาหมู่บ้านและการเกษตรในพื้นที่สูงทางภาคเหนืออย่างยั่งยืน



ด้วยความช่วยเหลือของอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัย หน่วยงาน นักวิชาการด้านต่างๆ ทำให้การปฏิบัติงานก้าวหน้าอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยการปลูกพืชเขตหนาวชนิดต่างๆ ที่เกษตรกรสามารถนำไปปลูกทดแทนฝิ่นได้ผลดี อาทิ ถั่วแดงหลวง สตรอว์เบอร์รี่ กาแฟอราบิกา พืชผักเขตหนาว ไม้ผลเขตหนาว ไม้ตัดดอกและไม้ประดับ ซึ่งต่อมา พืชผลเหล่านี้ได้เดินทางจากพื้นที่เพาะปลูกมาสู่มือผู้บริโภคในชื่อของผลผลิตจากโครงการหลวง และดอยคำ



ก่อตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป และดอยคำ

แม้ว่าการพัฒนาการเกษตรในหมู่บ้านชาวเขาจะดำเนินไปเป็นอย่างดีภายใต้โครงการหลวง แต่เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการส่งเสริมอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองและแหล่งรับซื้อ จึงเกิดปัญหาการถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ประกอบกับในบางช่วงฤดูจะมีผลผลิตที่ล้นตลาด หรือบางครั้งอาจไม่ได้ขนาดที่เหมาะสมสำหรับการจำหน่ายผลสด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “สหกรณ์ชาวเขา” และ “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป” แห่งแรกขึ้นในปี พ.ศ. 2515 เพื่อช่วยเหลือรับซื้อผลผลิตจากพืชที่ส่งเสริมในราคาเป็นธรรม นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในเครื่องหมายการค้า “ดอยคำ” เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนการจัดหาช่องทางกระจายสินค้าสู่ตลาด รวมถึงจัดให้มีการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารตามแนวพระราชดำริ



“ดอยคำ” เกษตรเพื่อชุมชน ผลิตผลเพื่อคนไทย

ปัจจุบันโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ถือกำเนิดขึ้นอีก 3 แห่ง ด้วยวัตถุประสงค์ที่ใกล้เคียงกัน แต่ออกแบบตามภูมิสังคมเพื่อให้กลมกลืนและสอดคล้องกับวิถีชีวิตในแต่ละพื้นที่ และดำเนินการตามวัตถุประสงค์ขององค์กรในการให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมด้านเกษตรกรรม  พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน และรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อความอยู่ดี กินดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ในปีพ.ศ. 2537 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รับช่วงดำเนินกิจการโรงงานหลวงฯ ต่อจากมูลนิธิโครงการหลวง โดยจัดตั้งเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อ “บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด” เพื่อดำเนินกิจการในรูปแบบ ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการสร้างสุขให้สังคมด้วยการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริ





นอกจากเรื่องราวของโครงการหลวงและผลิตภัณฑ์ดอยคำแล้ว ความห่วงใยและน้ำพระทัยที่ทรงมีต่อพสกนิกรในพื้นที่ห่างไกล ยังส่งต่อมาถึงแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการส่งเสริมอาชีพตามพระราชดำริ จัดตั้งกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร อันเป็นต้นกำเนิดของ ร้านภูฟ้า สาขาแรกที่สยามดิสคัฟเวอรี่นั่นเอง

ที่มา : www.royalprojectthailand.com, www.doikham.co.th

YOU MAY ALSO LIKE