BACK TO EXPLORE

Yarnnakarn งานอาร์ตเซรามิคที่พาคุณเดินทางผ่านกาลเวลาได้!

ของแต่งบ้านที่สร้างเรื่องราว มีชีวิตและเพิ่มความเคลื่อนไหว

แบรนด์เซรามิคที่คนสายอาร์ตรู้จักกันดี เห็นแล้วต้องเลือกซื้อไปเป็นเจ้าของหลายชิ้นอย่าง Yarnnakarn หรือ “ยานณกาล” ซึ่งเป็นคำที่ไม่ได้มีอยู่ในพจนานุกรม แต่เป็นการผสมคำที่มีความหมายบอกแทนคอนเซปท์ทุกชิ้นของแบรนด์ว่าตั้งไว้ตรงไหน ก็สามารถเปลี่ยนพื้นที่ตรงนั้นให้มีความเคลื่อนไหวอย่างกลมกลืน เพราะนี่คือความตั้งใจของผู้ก่อตั้งอย่างคุณกรินทร์ - กรินทร์ พิศลยบุตร และ คุณนก – พชรพรรณ ตั้งมติธรรม ที่ค่อยๆ สร้าง Yarnnakarn ขึ้นมาอย่างมั่นคงและชัดเจน


“ชื่อนี้พี่สาวตั้งให้ครับ โจทย์คืออยากได้ชื่อเกี่ยวกับเวลา เป็นคำไทยๆ ไม่อยากได้คำที่เจาะจงมากเกินไปเลยประดิษฐ์คำขึ้นมา “ยาน” หมายถึง พาหนะที่พาไปสู่จุดหมาย “ณ” คือสถานที่ และ “กาล” คือเวลา เพราะเราอยากทำอะไรที่เข้าไปเปลี่ยนเวลาในสเปซนั้นๆ ชื่อเลยมีความคลุมเครือหน่อยคล้ายๆ ไทม์แมชชีนที่พาเราเดินทางผ่านกาลเวลา ของที่เราออกแบบในแต่ละเซ็ตไม่ได้เป็นแค่ถ้วยหรือเชิงเทียน แต่เรามองเป็นสเปซ พื้นที่ที่เราสร้างเรื่องราวให้มีชีวิต สร้างความเคลื่อนไหวเลยเลือกของที่ดูคุ้นตา ไม่ได้แปลกใหม่ หวือหวา เป็นของที่เราเคยเห็นมาก่อน พูดถึงเวลาที่ย้อนกลับไป nostalgia วางในบ้านแล้วไม่รู้สึกแปลกประหลาด แต่กลมกลืนและไม่เด่นมากเกินไป ทำให้บรรยากาศดูอ่อนโยนและมีชีวิตชีวาขึ้น เราพยายามเอาวัฒนธรรมต่างๆ มาผสม นำความเป็นไทย เป็นเอเชียนใส่เข้าไป แต่ดูโดยรวมออกมาแล้วไม่ต้องจำกัดว่าเป็นอะไรเลย”

คุณกรินทร์ยังเล่าประสบการณ์ว่านักตกแต่งภายในหลายคนที่มีโปรเจ็คท์หลากหลายทั้ง minimal, modern, exotic สามารถหยิบแบรนด์ Yarnnakarn เข้าไปทำลายความแข็งของพื้นที่ได้หมด ลดความเย็นชาลงทำให้โปรดักท์ของแบรนด์ตอบโจทย์การตกแต่งได้หลายรูปแบบ


แต่กว่าที่จะออกมาได้เป็นรูปเป็นร่างเหมือนทุกวันนี้ คุณกรินทร์เคยผ่านงานออฟฟิศมาหลายที่หลังจากเรียนจบที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “เปลี่ยนงานบ่อยๆ ด้วยความที่เรายังเป็นเด็กเลยไม่อดทน ถ้าเจออะไรไม่ชอบก็อยากลองไปทำอย่างอื่น ก็พยายามหาว่าเราจะอยู่กับอะไรได้นาน เรียนจบด้านเซรามิคมา อยากทำของขาย มีสตูดิโอ ทำธุรกิจ คิดมาตั้งแต่เรียนแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง เลยไปเรียนต่อด้าน Fine Art ที่อังกฤษ เหมือนค้นหาตัวเองอีกรอบ เราอยากทำอะไรที่สื่อสารสิ่งที่เราชอบ อยากเป็นศิลปิน แต่ปัจจัยหลายอย่างระหว่างทางที่ไม่เข้ากับตัวเอง เราไม่ถนัดขนาดนั้น จะทำของขายหรือเป็นศิลปิน เราต้องบาลานซ์เรื่องทั้งหมด”

 

เมื่อเวลายังไม่ใช่ทำให้คุณกรินทร์หันเหกลับไปทำงานประจำ แต่ยังไม่ทิ้งฝันที่อยากทำของขายเองจึงไปเพิ่มประสบการณ์ทำงานเกี่ยวเซรามิคให้รู้ด้วยตัวเอง “ตอนนั้นอายุประมาณ 27 ได้เข้าไปเรียนรู้ระบบกึ่งอุตสาหกรรม เป็นจุดเริ่มต้นรู้จักตลาดต่างประเทศ ในประเทศ การขายของ ระบบคน ทำอยู่ 1 ปี หลังจากนั้นก็ออกมาทำของตัวเอง” คุณกรินทร์บอกว่าตอนนั้นไม่ได้คิดว่าตัวเองพร้อม แต่คิดว่าไม่ได้ทำจากสเกลใหญ่ ทำงานในโรงรถที่บ้าน เขานั่งคิดว่าจะไปขายที่ไหนที่ได้พบปะกับลูกค้า เลยคิดถึงงาน BIG+BIH (The Bangkok International Gifts and Bangkok International Houseware Fair) ที่ทำให้เจอตลาดกว้างขึ้น “ก่อนหน้านี้ทำแต่งานออกแบบ ไม่รู้การลงรายละเอียดขายของ ตั้งราคาไม่เป็น และด้วยเวลาที่น้อยทำให้ของที่เอาไปเสียเกือบหมด แต่เราได้คุยกับลูกค้าหลายแบบมีทั้งติและชม จากคำถามที่เกิด เรามาหาคำตอบ ได้ไปปรึกษาผู้ประกอบการที่อยู่ข้างๆ เขาเห็นเราเป็นเด็กใหม่ก็ให้คำแนะนำหลายเรื่อง ครั้งหน้าเรารู้แล้วว่าต้องทำยังไง”


“จุดที่ทำให้เราไปต่อได้จริงๆ มาจากของที่เอาไป ขายหมดเลยทั้งที่ของที่เราเอาไปเป็นของที่เสีย เพราะเซรามิคใช้เวลาในการทำกว่าจะออกมาเป็น 1 ชิ้น ใช้เวลา 3-6 เดือน ต้องทดลองพัฒนาออกมา แต่เรามีเวลาแค่ 2-3 เดือน ก็อาจจะเป็นรูปทรงที่เบี้ยวไปบ้าง สีไม่เหมือนที่ตั้งใจไว้บ้าง แต่ความที่เป็นงานคราฟท์ คนอาจจะชอบ ดูแปลกเป็นของจากสตูดิโอ เป็นงาน defect ที่ดูเป็นธรรมชาติ ตอนนั้นเราคิดว่างานพังๆ ของเราไม่ได้มาตรฐานส่งออกแน่เลย แต่คนกลับเห็นว่ามีเสน่ห์ คนชมเยอะ จากไม่แน่ใจว่าโอเคมั้ย มาถึงจุดที่พัฒนามาถึงตรงนี้ได้”

 

คุณค่าของเซรามิคอยู่ที่มุมมอง

คุณกรินทร์และคุณนกมองงานที่ไม่เพอร์เฟ็กต์อย่างแตกต่าง เพราะทำซ้ำไม่ได้ แต่พยายามควบคุมงานแล้วเสริมคุณค่าของเซรามิคเข้าไป ของบางชิ้นที่คนอื่นคิดว่าเป็นของเสียกลับขายเป็นงานอาร์ต ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้ แต่ถ้าเทียบกับเซรามิคจากระบบอุตสาหกรรม เขาจะมองว่าสีขาวที่ไม่เหมือนกันเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ “พอเราเข้ามาในตลาด เราไม่อยากทำงานชิ้นเดียว เราอยากให้ใครๆ ก็ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ราคาไม่สูงมาก เราหาทางผลิตซ้ำได้และยังดูเป็นธรรมชาติ จึงต้องหาจุดตรงกลางเอาไว้อยู่”

ขั้นตอนการทำงานจึงเป็นการแก้ปัญหา เพราะบางครั้งรูปทรงที่พวกเขาคิดอาจไม่เอื้อกับการทำเซรามิค บางชิ้นใช้เวลาทำครึ่งปี บางชิ้นตัดใจไปแล้วว่าทำไม่ได้ พอเวลาผ่านไป เพิ่งคิดออกก็มี หรือไปปรึกษาคนมีประสบการณ์ Yarnnakarn เป็นงานปั้นที่อยากได้ความรู้สึกว่าเป็นการปั้นด้วยมือ ดังนั้นต้องสร้างแม่พิมพ์ด้วยมือก่อน บางรายละเอียดงานปั้นยังไงก็ไม่สวยเท่าของจริง เลยต้องเอาของจริงมาใช้ร่วมด้วย”ผมสนใจของที่เอาไปวางแล้วสามารถเปลี่ยนบรรยากาศในสเปซนั้นๆ ดูเป็นของแข็งที่มีมูฟเมนท์ เราใส่ความมีชีวิตในที่ต่างๆ ยึดเป็นแกนในการทำงาน ทำหน้าที่เป็นงานศิลปะไม่ใช่แค่แจกัน ต้องล้อไปกับพื้นที่ โดยคอนเซปท์อยากให้ดูจริงที่สุด เช่น เซ็ตที่ใช้ร่วมกับของธรรมชาติก็อยากให้เชื่อว่าเป็นของจากทะเล แต่ละงานไม่มีวิธีไหนตายตัว อย่างงาน tableware ผลิตออกมา 30 แบบ เราทำเองทุกกระบวนการ ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าจากต่างประเทศด้วยที่อยากได้ฟังก์ชั่นพิเศษ เช่น เกาหลี อยากได้ชามใส่กิมจิ ตลาดอเมริกาอยากได้จานที่ใหญ่กว่าปกติ อย่างที่ ODS ในสยามดิสคัฟเวอรี่ก็มีให้เลือกหลากหลายแบบนะครับ”

 

ODS สยามดิสคัฟเวอรี่ตรงกลุ่มคนชอบงานคราฟท์

คนที่เป็นนักสะสมงานคราฟท์ งานอาร์ต ชอบใช้ชีวิตดีๆ คือภาพที่ทาง Yarnnakarn มองว่าการมาวางขายใน ODS ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่ค่อนข้างตรงกับกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ จึงอยู่มาตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ถ้าคุณเป็นคนที่ตื่นมาดื่มกาแฟ กินอาหารเช้ากับของที่พิถีพิถัน เลือกมาแล้วว่านี่คือไลฟ์สไตล์ที่แสนจะอิ่มเอมใจก็มาเลือกดีไซน์เก๋ๆ ของ Yarnnakarn ได้ที่นี่เลย

 

เพราะลูกค้าและสิ่งที่อยากทำคือแรงบันดาลใจ

เมื่อศิลปินและธุรกิจเดินหน้า แรงขับเคลื่อนให้มีพลังทำงานต่อๆ ไป คุณกรินทร์กับคุณนกบอกว่ามีทั้งงานที่คิดถึงลูกค้าและงานเพื่อตัวเอง เวลาที่ใช้ในการตกตะกอนสิ่งต่างๆจึงสำคัญมาก “แบรนด์ถูกสร้างมาจากแพชชั่น ไม่ได้ทำเพื่อให้ยิ่งใหญ่ เราทำเพื่อให้เป็นของเรา เรามีความรัก เห็นแล้วเราต้องชอบด้วย ตอนที่ทำก็สนุกมาก ขายดี มีคนชื่นชมก็เป็นกำลังใจ แต่อะไรที่เกินความต้องการไป ก็อาจเป็นความเครียด เราต้องอยู่ในสโคปที่พอดี ถ้าไปยุ่งเรื่องขายมากก็เครียด เราอาจหลงลืมการทำงานที่เราชอบไป ต้องทำงานศิลปะบ้างให้ไปต่อได้ ถ้าเราเสียอย่างใดอย่างหนึ่งไป อาจทำให้ทุกอย่างพังทลายลงเลย ไม่ใช่ขายดี แค่ธุรกิจ ต้องตอบตัวเองว่าต่อไปข้างหน้าเรายังมีไฟที่จะสนุกต่อไปได้มั้ย ต้องกลับมาคิดถึงจุดแรกว่าเราต้องการอะไร ที่ผ่านมาไม่ราบรื่น เราจำให้ได้ว่าเราฟันฝ่าเพื่ออะไร เราจะเลือกทางเดินที่เหมาะสม ทำให้เราอยู่ต่อไปได้”

คุณกรินทร์และคุณนกคงเป็นไอดอลของใครหลายคนที่ได้ทำงานที่รักและทำแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จไปพร้อมกัน บางคนอาจจะทำงานประจำอยู่และอยากลองธุรกิจของตัวเองไปด้วย ทั้งคู่เลยอยากฝากว่าค่อยๆ เริ่มจากความเสี่ยงน้อยๆ ทำงานขึ้นมาแล้วดูจากในโลกโซเชียลก็ได้ว่าไปได้หรือไม่ได้ ถ้าขายได้แล้วจะไปทางไหนต่อ บางสิ่งที่เราชอบอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เครียดและไม่มีอะไรมากดดัน ดังนั้นค้นหาตัวเองให้เจอ และใครที่อยากมาดูผลงานของ Yarnnakarn มาเลือกชิ้นที่ชอบกลับไปเปลี่ยนสเปซให้บ้านของคุณมีชีวิตและเรื่องราวได้ที่ ODS ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่