BACK TO EXPLORE

Basic Teeory เปลี่ยนเศษกระดาษมาเป็นจีเวลรี่ใส่ไอเดียสุดคูล

Basic Teeory เปลี่ยนเศษกระดาษมาเป็นจีเวลรี่ใส่ไอเดียสุดคูล
วัสดุไร้ค่ามาสร้างมูลค่าเป็นเครื่องประดับที่คนต้องหันมามอง

ถ้าถามว่าเราชอบใส่เครื่องประดับแบบไหน คงยังไม่เคยมีใครตอบว่าชอบแนวเครื่องประดับที่ใช้วัสดุ reuse มาแน่นอน เพราะใส่แล้วจะใส่มิกซ์แอนด์แมทช์เข้ากับชุดง่ายหรือเปล่า แต่ตอนนี้แบรนด์เครื่องประดับที่ค้นหาวิธีนำของเหลือใช้มาเป็นจีเวลรี่สวยๆ อย่าง Basic Teeory ที่ผู้ก่อตั้งแบรนด์คือคุณตี๋ - วรชัย ศิริวิภานันท์ มาเล่าถึงแรงบันดาลใจและการทดลองที่น่าทึ่งออกมาเป็นต่างหู สร้อยคอที่ผู้หญิงอยากใส่ทุกวัน





ดูของรอบตัวในบ้านมาครีเอทงาน
คุณตี๋เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับงานเครื่องหนัง เซรามิกและของแต่งบ้าน จากนั้นก็ไปทำงานประจำสายการตลาด แต่ก็ยังไม่ทิ้งความรักในการออกแบบงานที่ไม่เหมือนใคร “เราเคยมีประสบการณ์ทำงานกับดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส เป็นงานเซรามิก งานหนัง ผ้าคลุมหรืองานเย็บ สตูดิโอมีอยู่ที่ปารีสและเมืองไทย ได้ความรู้ในการทำงานมาบ้าง แต่ก็มาทำงานประจำแต่ก็คิดทำจีเวลรี่ของตัวเองไปด้วย ในระหว่างที่ทำงานปีสุดท้ายก็ใช้เวลาในการพัฒนางานไปในหลายๆ สเตจจนลาออกมาทำแบรนด์ของตัวเองเต็มตัว”



ไม่จำเป็นที่จะต้องออกไปหาซื้อวัสดุต่างๆ เพราะยังมีของใช้ง่ายๆ แค่ใช้การทดลอง เอามาผสมผสานก็ได้เป็นงานชิ้นใหม่ในอีกรูปแบบหนึ่ง คุณตี๋จุดประกายจากของเหลือใช้ในบ้าน เขาเล่าว่า “เริ่มจากสิ่งรอบตัว ที่บ้านมีอะไรเราหยิบมาใช้หมด เช่น เศษดินสอ เศษกระดาษ ที่บ้านมีรับเหมาก่อสร้างก็จะมีเศษตะปู น็อต สกรู เศษไม้ แต่ต้องเลือกว่าอะไรไปได้ไกลและกว้างที่สุด เลยเริ่มจากกระดาษ A4 แบบใช้ในสำนักงาน ก็ลองมาทำแจกเพื่อนหรือญาติให้ลองใช้งาน ช่วงแรกๆ กระดาษที่ใช้จะยังไม่สมบูรณ์ แต่พัฒนามาเป็นกระดาษที่เหมาะสมแต่ยังเป็นการ reuse นำกลับมาใช้ใหม่ ไม่ใช่แค่กระดาษในออฟฟิศ แต่ต้องเป็นกระดาษเหลือทิ้งที่เรียบถึงจะเกิดงานได้”

และแล้วคุณตี๋ก็ได้ค้นพบขั้นตอนหลังจากที่ทำมาหลายๆ วิธีและพบว่าการม้วนทำให้เกิดเป็นลูกปัดกระดาษได้ดีที่สุด โดยเขาอธิบายว่า
1. เลือกกระดาษ “เราใช้กระดาษที่ถูกเจียรทิ้งจากโรงพิมพ์ โชคดีที่เจ้าของโรงพิมพ์คือเพื่อน เราได้คุยกันทางนั้นจะบอกว่าตอนนี้กำลังใช้กระดาษอะไร ขนาดเท่าไหร่ กี่แกรม สีอะไร เราต้องคอนโทรล คุณสมบัติทุกอย่างรวมทั้งความยาวและความกว้างของกระดาษก็สำคัญ เราอยากได้สีขาวและความหนาที่ไม่มากเกินไป เพราะต้องม้วนกระดาษหลายรอบ อาจทำให้น้ำหนักตัวลูกปัดเปลี่ยนไป แล้วต้องเป็นกระดาษสมุดที่ไม่มีบรรทัด”
2. ม้วนๆๆ “พอได้กระดาษตามขนาดแล้ว ก็เอามาทำความสะอาด กระดาษต้องไม่เปียกชื้น ไม่มีฝุ่น จากนั้นก็ทำการม้วน แล้วทางแบรนด์จะมีเทคนิคพิเศษให้กระดาษม้วนได้แน่น ไม่ดีดตัวออกมา เคลือบผนึกงานแล้วใช้วิธีอบหรือทิ้งให้แห้ง”
3. เก็บสต็อคลูกปัดและทำลวดลาย “ลูกปัดกระดาษที่ได้ก็นำมาทำสีกับลายเคลือบด้วยฟิล์มลามิเนต ตรงนี้ช่วยกันชื้น กันเหงื่อ กันน้ำ”
4. Q.C. งานแต่ละชิ้น “ต้องมาดูว่าปลายอาจจะเปิดออก ต้องดูทุกมุมปิดแน่น หลังจากนั้นเอามาร้อยตามดีไซน์ที่ได้เตรียมไว้”



เครื่องประดับที่ใช้การม้วนเหมือนชนเผ่าในแอฟริกา
หลังจากที่พัฒนางานมาจนมั่นใจแล้ว คุณตี๋เลยย้อนกลับไปหาข้อมูลว่าการใช้กระดาษมาม้วนเคยมีคนทำมาหรือยังและพบว่าตรงกับการทำเครื่องประดับของชนเผ่าหนึ่งในแอฟริกา แต่ยังไม่เคยมีใครทำซ้ำกับแนวคิดของแบรนด์เลย “ที่ใช้วิธีม้วน เพราะเราคิดแค่ว่าอยากเอากระดาษมาฟอร์ม เคยใช้มาทั้งแบบออริกามิ การตัด แต่ม้วนน่าสนใจที่สุด พอทำเสร็จแล้วเราก็กลับมาดูว่าเทคนิคนี้เคยมีคนทำหรือยัง ก็ไปเจอว่ามีชนเผ่าชาวแอฟริกันทำวิธีม้วนนี้ แต่รูปทรงกระดาษของเขาจะใช้กระดาษสามเหลี่ยม พอม้วนแล้วจะเป็นรูปกรวย เขาใช้จนเก่าแล้วก็ทำใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างคนไทยเองก็เคยใช้เทคนิคนี้กับการทำมู่ลี่กระดาษ แต่เขาไม่ได้พัฒนารูปทรงและการเคลือบผิวให้มีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น” ส่วนที่ยากที่สุดคุณตี๋บอกว่าจะอยู่ที่ขั้นตอนการม้วน เพราะทำนานที่สุด คนงานที่ทำก็จะทำตรงนี้ทุกวัน วันหนึ่งก็ได้ 300-500 เม็ด สร้อยบางเส้นจะใช้ประมาณ 120-150 เม็ด



ความทนทานเป็นคำถามที่เจอบ่อยที่สุด!
เวลาไปออกงานแฟร์ต่างๆ คุณตี๋บอกว่าสิ่งแรกที่คนถามมาก็คือว่าถ้าโดนน้ำจะเปื่อยยุ่ยมั้ย เขาบอกว่าเหงื่อ ฝนไม่ใช่ปัญหา แค่ต้องดูแลรักษาให้ถูกต้องก็ใช้ได้ยาวหลายปี  “สร้อยเส้นแรกเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2014 สร้อยที่ทำเส้นนั้นยังเป็นสเตจแรกของการทดลองทุกวันนี้ก็ยังเป็นเส้นที่ใส่ทำงานในสตูดิโอ อาจจะดูเก่าไปตามเวลาแต่ยังใช้ได้ดี ดังนั้นทุกวันนี้เราพัฒนาการโค้ตติ้ง ลูกปัดแข็งแรงขึ้น ซึ่งปัญหาอาจจะมีบ้าง เช่น เชือกขาด ก็ทำการซ่อมแซมได้ ไม่ใช่ปัญหากระดาษเปื่อยหรือขาด ยิ่งถ้าเก็บรักษาได้ถูกต้อง เราจะอธิบายว่าโดนฝนได้ไม่มีปัญหา แต่อย่าแช่น้ำ ไม่ต้องล้างตัวสร้อยแค่เช็ดทำความสะอาด ถ้าอากาศร้อนเจอเหงื่อเยอะก็แขวนผึ่งเอาไว้ อย่าเพิ่งใส่กล่อง พอแห้งสนิทค่อยเก็บ อายุการใช้งานก็นานขึ้นด้วย”




Basic Teeory มองไกลถึงอนาคต
“ฟีดแบ็กจากเริ่มต้นที่คนนึกภาพไม่ออก เราต้องสื่อสารออกไปให้ได้ว่ากระดาษใส่ได้จริงๆ ไม่หนักแต่ก็ไม่เบาเท่าพลาสติก คนเห็นจากออนไลน์ก็ชอบเลย แต่เขาจะสงสัยว่ายับมั้ยหรือกันน้ำได้หรือเปล่า ลูกค้าเก่าที่เคยซื้อไปก็จะรู้ว่าไม่ได้ใช้งานยากก็กลับมาซื้อใหม่ ปีที่แล้วทำตุ้มหู ลูกค้าที่มีความไม่มั่นใจก็ลองซื้อตุ้มหูไปดูจากนั้นก็กลับมาซื้อสร้อย บางคนที่แพ้นิกเกิลหรือโลหะ จีเวลรี่ของเราก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง”



นอกจากนี้ คุณตี๋ยังบอกอีกว่าในอนาคตจะพัฒนาไปถึง men’s accessories เป็นพวกติดแขนเสื้อ ห้อยเนคไท เข็มกลัด สร้อยข้อมือเพิ่มในแง่ความหลากหลาย และลายกับสีที่ต้องเพิ่มมากขึ้น อีกไอเดียที่เขาเล่นตอนนี้คือการขยำกระดาษให้เป็นก้อน  การพลีทให้เกิดเป็น 3 มิติ แต่ก็ยังกลัวว่าเปลี่ยนสไตล์มากไป ล่าสุดใช้เทคนิคการ binding สมุดมาเป็นจีเวลรี่อย่างกำไลข้อมือ “เราทดลองกับลูกค้าหลายคนแล้วเขาสนใจ ก็อาจเป็นไปได้ที่จะทำรายได้จริง”



ปกติทางแบรนด์ Basic Teeory จะมี 2 คอลเลคชั่นใหญ่ๆ คือ Paper You Can Wear จะเป็นคอลเลคชั่นที่มาวางใน Ecotipia เป็นวัสดุกระดาษแล้วใช้การเปลี่ยนสีเปลี่ยนลาย ใส่ได้ร่วมสมัย กับ the Beauty of Remains ใช้วัสดุที่คนมองข้ามอย่างซีเมนต์ ยาง ซิลิโคน เศษแก้ว กระจก เม็ดทรายมาทำให้เป็นงาน customized ออกแนว haute couture แต่คอลเลคชั่นนี้จะขายในต่างประเทศ



เราถามว่าทำไมคนถึงรัก Basic Teeory คงต้องบอกว่าจุดเด่นของแบรนด์จะเป็นเรื่องของเอกลักษณ์และการเลือกวัสดุมาทำจีเวลรี่ “ลูกค้าที่ซื้อจะรู้ว่าใส่ของแบรนด์เราแล้วไม่ซ้ำใคร เพราะเขาชอบความไม่เหมือนใคร ใส่แล้วไม่ซ้ำคนอื่น ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างประเทศ เพราะคนไทยจะไม่เข้าใจว่าต้องจ่ายในราคาเท่าซื้อเครื่องเงิน แต่ได้กระดาษมา แต่ชาวต่างชาติเข้าใจ เพราะเรามีเรื่องราว มีปรัชญา มีคุณค่าในงานเครื่องประดับ แล้วจะเป็นคนโซนยุโรปอย่างเยอรมันหรือฝรั่งเศส ไม่ใช่แถบอเมริกา เราเลยโฟกัสไปตลาดยุโรป มีวางขายที่แกลเลอรี่ในเยอรมันที่เอาแบรนด์ของเราไปวางทั้งแบรนด์ หลังจากนั้นไปตามงาน Craft Fair ในเมืองไทย อยากได้ตลาดคนไทย เราได้เจอกับคนกลุ่มใหม่ๆ มีไปวางตาม Boutique Hotel ต่างๆ เช่นใน กระบี่ เชียงใหม่ และได้รับคำเชิญให้มาวางที่ Ecotopia ชั้น 4 Siam Discovery ถือว่าเป็นครั้งแรกที่เราวางใน multi-brand store คนไทยทุกคนสามารถเดินทางมาซื้อได้ง่ายขึ้น”

ก่อนจากกันเราเห็นแววตาที่มีความสุขของคุณตี๋มาตลอดการเล่า เลยถามว่ามีความสุขกับสิ่งที่ทำแค่ไหน เขาตอบว่า “ทุกวันนี้รู้สึกพอใจกับแบรนด์ ภูมิใจที่ทำจีเวลรี่ไม่เหมือนคนอื่น เป็นงานแฮนด์เมดที่เวลาเราคุยกับลูกค้าแล้วเขาแฮปปี้ เราก็รู้สึกพอใจ  ลูกค้าทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าชอบงานเรา เราเลยต้องทำงานที่ไม่เหมือนคนอื่นต่อไป”

YOU MAY ALSO LIKE