BACK TO EXPLORE

กระเป๋าใบนี้ มีไอเดียมาจากแผ่นรองตัดคัตเตอร์ และทำมาจากยางพาราของไทยเรา

กระเป๋าใบนี้ มีไอเดียมาจากแผ่นรองตัดคัตเตอร์  และทำมาจากยางพาราของไทยเรา
แอคเซสเซอรี่ที่ไม่เหมือนใครแถมยังรักษ์โลกแบบเก๋ๆ ต้อง Least Studio

คุณมินท์ ธีรพล อัครทิวา, 29 ปี คือชายหนุ่มหัวใจเด็กสถาปัตย์ ที่หันไปแล้วเจอสิ่งรอบตัว ที่เขาใช้ทำงานจริงๆ แผ่นรองตัดคัตเตอร์สีเขียวๆ เลยได้กลายมาเป็นกระเป๋าถือ ที่ต่างชาติยอมรับ เขาคือผู้ก่อตั้งแบรนด์ Least Studio เอายางพาราจากเกษตรกรไทย มาแปรรูปเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่เข้าเทรนด์มินิมัลลิสต์แฟชั่น เก๋ เท่ เรียบง่าย และยังรักษ์โลก!



เป็นเด็กสถาปัตย์ฯ ไอเดียกระเป๋า เลยได้มาจากสิ่งใกล้ตัว
คุณมินท์เริ่มเล่าอินสไปร์แรกของแบรนด์ Least Studio ให้เราฟัง ว่ามาจากความที่เรียนคณะสถาปัตยกรรม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี่ล่ะ เริ่มเลยคืออยากทำอะไรขายตอนช่วงมีงานละครของเด็กสถาปัตย์ฯ ทำเป็นสมุดไม่มีเส้นมาขายก่อน แล้วขายดี คนชอบกัน หลังจากนั้นความอยากขายของเลยเกิดขึ้นๆ เรื่อยๆ “พอหลังจากทำสมุดขาย ก็เริ่มติดใจ เลยคิดต่อว่าจะขายอะไรดี ก็เลยเกิดเป็นกระบอกหนังใส่แบบ ตอนนั้นไม่มีใครทำเลย ได้ขายที่ห้างด้วย ขายดีเลย คนที่ชอบเป็นต่างชาติมากกว่าคนไทย” แล้วพอคุณมินท์เรียนจบ ต้องออกมาทำงาน ก็เลยต้องมุ่งมั่นทั้งงานออฟฟิศ และทำของขายไปด้วยกัน



จากงานประจำเป็นหลัก ค่อยๆ กลายเป็นงานทำของมาแซงงานประจำ
พอคุณมินท์ และคุณออม ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Least Studio และทำผลิตภัณฑ์ขายด้วยกันมาตั้งแต่เรียน  ได้มาทำงานออฟฟิศ ตอนแรกทำงานออฟฟิศวันธรรมดา และทำของกันวันเสาร์อาทิตย์ จนพอทำๆ ไปได้สักปีครึ่ง แบรนด์ Least Studio เริ่มผลิตของไปขายในห้างมากขึ้นๆ ทำให้คุณมินท์ และคุณออมต้องปรับจากงานออฟฟิศทำวันธรรมดา เป็นยกงานออฟฟิศมาทำเสาร์อาทิตย์ แล้วงาน Least Studio ทำวันธรรมดาแทน ถือเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่เหมือนกัน เพราะคุณมินท์บอกว่า “ตัดสินใจนานเลย จากพนักงานเงินเดือน เราต้องเปลี่ยนตัวเองแล้ว”



แรงขับเลยมาทันที กระเป๋าที่รองตัดคัตเตอร์จึงได้เกิดขึ้น
และพอต้องรับผิดชอบตัวเองเต็มๆ คุณมินท์เลยคิดเอาจริงเอาจังกับแบรนด์ตัวเอง ไอเดียของ Least Studio ก็คือ “ความน้อยที่มาก” คุณมินท์เน้นความเรียบง่าย ที่มีฟังก์ชั่นการทำงานครบ  ต้องเป็นงานดีไซน์ที่จับต้องได้ คุณมินท์เลยเริ่มมามองอะไรใกล้ตัว และคิดอยากทำอะไรที่สามารถแทนหนังสัตว์ได้ “เริ่มจากไปเซอร์เวย์ตลาด คือคิดก่อนเลยว่าทำไมคนชอบใช้หนังสัตว์ ก็เพราะมันสวย คงทน มีฟังก์ชั่นดี ใช้ไปนานๆ มีความผูกพัน แล้วก็ยังสวยงามอยู่ ก็เลยเอาโจทย์ตรงนี้มาตั้งไว้ว่า เราต้องหาวัสดุที่เป็นแบบนี้ให้ได้”



คุณมินท์บอกว่าใช้เวลาหาวัสดุไปนานเลย หาเท่าไหร่ก็ไม่ใช่ จนสุดท้ายมาสะดุดกับแผ่นรองตัดคัตเตอร์ “หันมาทีไร ก็จะเห็นแผ่นรองตัดอันนี้บนโต๊ะเราตลอด ก็มองว่ามันน่าสนใจนะ มันทนคัตเตอร์ได้ หันไปบอกพาร์ทเนอร์ว่า จะเอาอันนี้มาทำกระเป๋านะ เขายังขำเราเลย” ปัญหาของแผ่นรองตัดคัตเตอร์ที่คุณมินท์เจอเป็นสิ่งแรกก็คือ “คือมันหยาบ และสากมาก” คุณมินท์เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราเอาไอเดียของแผ่นรองตัดนี่ล่ะ แล้วไปหาวัสดุที่ใกล้เคียงที่สุด คือต้องวางแล้วรองกรีดได้ ไม่เป็นรอย มีความนุ่มนวล ลื่น คงทน ยิ่งใช้ยิ่งสวย ก็เลยเป็นช่วงเวลาที่ค่อยๆ พัฒนาวัสดุตัวนี้ขึ้นมา



ยางธรรมชาติคือคำตอบ เกิดเป็นกระเป๋าขึ้นมา
“ก็เลยไปสะดุดกับยางธรรมชาติ เพราะมันนุ่ม แล้วลื่นมากๆ ก็เลยพัฒนายางแผ่นเลยแล้วกัน” คุณมินท์อยู่กับโรงงานทำยางจนเจอวัสดุผสมผสานกันกับยางออกมาเป็นสิ่งที่ กันมีดกรีดได้ กันน้ำได้ กันแสงยูวีได้ ใช้แล้วสีไม่ตก ป้องกันแบคทีเรียก็ได้ด้วย พอได้วัสดุแล้ว สิ่งที่ยากมากต่อมาก็คือ “ต้องหาเข็มที่เย็บเข้าได้ อันนี้เป็นความท้าทายต่อมาเลย” แต่ความพยายาม และความตั้งใจจริงของคุณมินท์ ก็เป็นผล เกิดผลิตภัณฑ์คอลเล็คชั่นแรกออกมาคือ Cutting Mat Collection คอนเซ็ปท์คือ เริ่มต้นบนโต๊ะทำงาน เป็น Everyday Working Routine คอนเซ็ปท์คือเป็นกระเป๋าสำหรับคนทำงานนั่นเอง



ต่างชาติตอบรับดีมากๆ
ทันทีที่กระเป๋าของ Least Studio ออกมา คุณมินท์บอกว่า ผลตอบรับจากต่างชาติดีมากๆ “มีคนบอกว่าดีไซน์เราเหมือนของญี่ปุ่นกับสแกนดิเนเวีย” คุณมินท์ได้ไปออกอีเวนท์ที่เมืองนอก และได้ยอดสั่งซื้อจากต่างชาติทันที ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน จะเป็นตลาดหลักของคุณมินท์ “ต่างชาติเขามองว่าไทยเราเป็นคราฟท์แมนมือรองจากญี่ปุ่นเลยนะ อย่างยุโรปเขามองว่าดีไซน์ของเราดี มีอ่อนก็เรื่องพวกแพคเกจจิ้ง การสื่อสารออกไปเฉยๆ”

พอ Last Studio ออกสู่สายตาโลก คุณมินท์ก็ไม่หยุดนิ่ง พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นเข้าไปอีก “เราไปลุยเรื่องวัสดุต่อกับโรงงานยางอีกหนึ่งปีเต็มๆ แล้วออกไลน์โปรดัคท์มาหลายชิ้น อย่างกลางปีที่แล้วก็เลยได้ออกคอลเล็คชั่นเต็มๆ ทั้งไลน์เลย” หลังจากนั้น Least Studio ได้ไปออกงานกับกระทรวงพาณิชย์ แล้วได้รางวัลผลิตภัณฑ์กระเป๋าที่กางออกมาเป็นแผ่นรองตัด รางวัล Dmark  ปี 2016  ทำให้คุณมินท์ และคุณออมมั่นใจได้ว่า ไอเดียเรียบง่ายเริ่มแรก กับการช่วยกันพัฒนาวัสดุจากธรรมชาติ บวกกับดีไซน์ที่น้อยแต่ได้มาก คือความเป็นลีสท์ สตูดิโอจริงๆ เกิดเป็นแรงบันดาลใจต่อมาว่าในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์น่าสนใจของลีสท์ สตูดิโอออกมาอีกเรื่อยๆ คุณมินท์มองไปที่เฟอร์นิเจอร์เลยด้วยเหมือนกัน



Least Studio คือแบรนด์ไทย คุณภาพ และดีไซน์ต่างชาติยอมรับ มีส่วนช่วยเกษตรกรยางพารา แล้วเอายางพาราไปพัฒนาต่อ คุณมินท์บอกว่า “ยางพารานี่ดีมากๆ เลย ถ้ามีดีไซเนอร์รุ่นใหม่ มาช่วยกันจับเรื่องนี้มากขึ้น ก็จะช่วยพัฒนากันไปได้อีกไกลเลย”

แวะมาเลือกช้อปกระเป๋าจาก Least Studio กันได้ที่ชั้น 4 Ecotopia สยามดิสคัฟเวอร์รี่

YOU MAY ALSO LIKE