เปียง...คุณหมอนักเดินทาง และการโคจรมาพบกันของศาสตร์และศิลป์
ความโชคดีอย่างหนึ่งของชีวิต คือ โลกความจริงและโลกความฝันมาบรรจบกันที่ Traveller X Doctor
ถ้าได้ฟังเรื่องราวของนายแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป โรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ที่มีนามว่า ‘เปียง - กันตพงศ์ ทองรงค์’ เจ้าของเพจ PYONG : Traveller X Doctor เราจะรู้เลยว่าความลงตัวในชีวิต ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นจากความชอบและการฝึกฝน จนกลายเป็นการโคจรมาพบกันของศาสตร์และศิลป์ในตัวคุณหมอนักเดินทางคนนี้
วัยเด็กที่ขี้อายกับงานศิลปะที่คุ้นเคย
หมอเปียงเล่าย้อนถึงชีวิตในวัยเด็กว่า “ผมชอบอยู่กับศิลปะเพราะรู้สึกว่าเราทำมันได้ดี คุณครูก็จะส่งเราไปแข่งงานศิลปะต่างๆ ไปประกวดนู่นนี่นั้นตลอด ทั้งวาดภาพ ระบายสี แต่ผมเป็นคนพูดน้อย ไม่เล่นดนตรี ไม่เล่นกีฬา เหมือนเป็นเด็กมีปัญหา ซึ่งต่างจากตอนนี้มากที่คุยเก่งขึ้น มั่นใจมากขึ้น กล้าพูดต่อหน้าคนเยอะๆ แต่ก็ฝึกอยู่เป็นสิบปี เปลี่ยนไปเยอะมาก จนคุณครูสมัยนั้นก็จะจำภาพเด็กคนนั้นไม่ได้แล้ว แต่ว่าสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือความสูง เพราะเราสูงมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่อนุบาลเลย”
เมื่อการปลูกฝังและความฝันในการเป็นหมอ เดินบนเส้นทางเดียวกัน
“ผมถูกผู้ใหญ่ปลูกฝังให้อยากเป็นหมอมาตั้งแต่เด็กๆ เราไม่ได้คิดว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากเราเอง จนอยู่ ม.2 ก็ได้ดูสารคดี เกี่ยวกับการช่วยเหลือคน แล้วก็รู้สึกว่าเป็นหมอนี่มันเท่มากเลยนะ มันทำให้คนๆ หนึ่งที่กำลังจะตาย สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก 10-20 ปี เราก็เลยมองว่าหมอเป็นฮีโร่ที่แบบไม่ได้มีชุดกับผ้าคลุมไหล่ แต่มีเสื้อกาวน์ เราก็เลยพยายามตามความฝัน พยายามทำให้เก่งขึ้นจะได้เป็นหมอ”
การจับกล้องครั้งแรกคือจุดเปลี่ยนในงานศิลปะ
ความชอบในงานศิลปะของหมอเปียงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามช่วงเวลา จากที่เคยชอบสีชอล์ค สีน้ำ สีโปสเตอร์ พอช่วงเป็นที่อนิเมะกำลังดัง ก็จะวาดลายเส้นแบบอนิเมะเยอะมาก แต่พอมีเรื่องของ Photoshop เข้ามา ก็เริ่มเปลี่ยนทางจากงานวาดมือเป็นงานคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นก็จะฝึกเกี่ยวกับโปรแกรม Photoshop, Computer Graphic, การตัดต่อวิดีโอ และการ retouch
“ผมเริ่มจับกล้องตอนเรียนปีหนึ่ง เพราะมีเพื่อนสนิทที่เขาเล่นกล้องและก็ชอบถ่ายรูปให้เรา แล้วเราก็จะเอารูปไปแต่งจนได้ภาพที่ถูกใจ แต่วันหนึ่งรู้สึกว่าอยากลองเลือกมุมเอง ก็เอากล้องเขามาลองเล่น ลองถ่ายรูปดู แล้วรู้สึกว่า เฮ้ย! มันคืองานศิลปะเหมือนกัน แล้วเป็นศิลปะที่ไม่ธรรมดาเพราะว่าเป็น instant artwork คือถ่ายปุ๊บได้งานเลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราใช้เวลาหลายชั่วโมงในการผลิตงานออกมาชิ้นหนึ่ง แต่พอเราถ่ายรูปปุ๊บได้ออกมาหนึ่งงาน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา งานอื่นก็พับเก็บเลย” (ฮา)
รูปถ่ายของหมอเปียงในช่วงแรกๆ นับพันรูปที่ลงในอินสตาแกรม ทั้งหมดจะเป็นรูปขาวดำ เป็นรูปตัวเองบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นรูปถ่ายที่เน้นการเล่นแสงและเงาตามมุมตึก อาคาร และห้องต่างๆ ของโรงพยาบาลที่เคยไป เพราะรู้สึกว่าภาพขาวดำ มันทำให้บางอย่างที่ไม่ได้เด่นมากกลับดูเด่นขึ้น เมื่อตัดสิ่งรบกวนต่างๆ จนเหลือแต่ขาวกับดำ
แต่จุดเปลี่ยนก็คือเมื่อเราได้ท่องเที่ยว ได้ถ่ายรูปเยอะๆ ก็จะเริ่มมีทักษะมากขึ้น เริ่มถ่ายรูปสวยขึ้น ก็เริ่มมีคนกลุ่มหนึ่งที่ติดตามในเฟซบุ๊กส่วนตัว ในอินสตาแกรม จนหมอเปียงมีผู้ติดตาม (follower) จำนวนหลายพันคน และกลายเป็นหลายหมื่นคนในตอนนี้ “ผมว่ารูปถ่ายของผมจะเป็นสไตล์ภาพที่เน้นถ่ายอะไรก็ได้ให้เท่ แล้วก็ดูมีเรื่องราวอะไรบางอย่าง ดูมาสคูลีนมากๆ มีแสงเงาชัดเจน สีและคอนทราสต์จัดๆ ซึ่งผู้ติดตามของเราจะจำได้ว่าน่าจะเป็นภาพของเปียง”
หมอเปียงเล่าต่อว่า “เทคนิคที่ใช้ในการถ่ายรูปมี 3 สไตล์คือการถ่ายขนาน อย่างถ้าถ่ายรูปอาร์คิเทค ถ่ายตึก ตัวตึกต้องตรงเป็นแนวขนาน อีกมุมหนึ่งที่ผมถ่ายบ่อยมากคือเท้าตัวเอง เป็นมุมกดที่มองเห็นว่าเท้าเหยียบอยู่บนอะไร และสิ่งนั้นจะบอกได้เลยว่าที่นั่นคือสถานที่ไหน เช่น กระเบื้องสไตล์โมร็อคโคหรือฝาท่อสลักลายที่ญี่ปุ่น และแบบที่สามคือผมชอบถ่ายกับกระจก แต่กระจกนี่ต้องไม่ใช่กระจกธรรมดาๆ นะ เช่น กระจกโค้งริมถนน หรือเงาที่สะท้อนจากกระจกข้างของรถยนต์ เพราะให้มุมมองที่แปลกตาดี”
OneSiam ในสายตาของคุณหมอนักเดินทาง
และเมื่อเราลองให้หมอเปียงลองถ่ายรูปมุมต่างๆ ใน OneSiam พร้อมโมเดลสักคน เราก็ได้เห็นสไตล์และมุมมองที่บอกได้เลยว่านี่แหละคือภาพถ่ายของหมอเปียง!
“ผมมีความผูกพันกับโซนนี้อยู่แล้วเพราะว่าเป็นศิษย์เก่าเตรียมอุดมฯ จบแล้วก็ไปต่อหมอที่จุฬาฯ เลยได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่าง สยามพารากอนและสยามเซ็นเตอร์ก่อนจะรีโนเวทเป็นยังไง เรารู้ทุกซอกทุกมุมของที่นี่ เรารู้ว่าถ้านัดเพื่อนกินข้าวในสยามพารากอน แล้วจะไปร้านไหน ตอบได้หมด แต่ถ้าถามว่าประทับใจอะไรที่สุด ต้องบอกว่าที่นี่เหมือนกับคนที่เราอยู่ด้วยกันมานาน ทุกอย่างมันคือความผูกพัน”
“แต่ถ้าถามว่าอะไรที่อินสไปร์ผมได้บ่อยที่สุด น่าจะเป็นโซนของไทยดีไซเนอร์ ผมชอบมาเดินดู เพราะว่าแบรนด์พวกนี้ให้มุมมองใหม่ในการตีความเกี่ยวกับแฟชั่น ผมรู้สึกว่างานของไทยดีไซเนอร์มีความคราฟที่ไม่เหมือนกัน แล้วที่ชอบอีกอย่างคือสยามเซ็นเตอร์ตกแต่งสวย การตกแต่งภายในของที่นี่มันดูดี ไม่ว่าจะถ่ายจากมุมไหนก็สวยไปหมด”
ถ้าไม่เป็นหมอ ไม่เป็นช่างภาพ แล้วขอเป็น....
“ผมทิ้งความเป็นหมอไม่ได้ แต่สมมติว่าเป็นอีกชีวิตหนึ่งเลย ผมอยากเรียนนิเทศศาสตร์เกี่ยวกับการโฆษณา ผมคิดว่ามันเจ๋งที่จะได้ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ผมเป็นคนที่ชอบดูงานโฆษณาที่เป็นแบบพริ้นติ้ง ที่เป็นภาพและมีคำโปรยนิดหน่อย ชอบที่ต้องตีความ มันดูซับซ้อนและเมื่อเราตีความได้จะรู้สึกว่าเจ๋งอ่ะ และความยากคือถ้าตีความได้ง่ายไปก็ไม่ดี แต่ถ้ายากเกินก็ไม่ได้ อะไรคือความพอดี นี่แหละที่ท้าทาย”
เราจบบทสนทนาด้วยรอยยิ้มของหมอเปียง หมอหนุ่มนักเดินทางที่ในชีวิตจริงก็ยังคงสนุกกับการเป็นคุณหมอ และมีความสุขกับการท่องเที่ยวเพื่อถ่ายรูปตามความชอบ แล้วทุกอย่างก็ลงตัวที่ PYONG : Traveller X Doctor