BACK TO EXPLORE

นางกวักสุดเปรี้ยว ความเชื่อก็แฟชั่นได้จากไอเดียของ 2 ดีไซเนอร์นี้!

นางกวักสุดเปรี้ยว ความเชื่อก็แฟชั่นได้จากไอเดียของ 2 ดีไซเนอร์นี้!
นางกวักในยุคอนาล็อก เมื่อถูก This Means That จับแปลงโฉม ก็อินเตอร์เข้ายุคมิลเลนเนียลที่สุด

รักนางกวักมาตั้งแต่เด็ก รู้สึกว่านางสวย นางเชิญชวน นางไม่ทำอะไรมากขอให้ฉันได้กวักเรียกเธอเถอะ นางกวักคือความเชื่อของคนไทยว่า เธอคือเทพีแห่งโชคลาภ ถ้ามีตั้งไว้ ทุกสิ่งจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ร้านค้า บ้านเรือน แม้กระทั่งออฟฟิศหรูๆ ยังต้องมีนางกวัก นางกวักมีมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนมาถึงวันนี้

และด้วยความขลังของนางกวักนี่ล่ะ ทำให้ดีไซเนอร์สองท่านนี้ “คุณนก-ธันย์ชนก ยาวิลาศ และ คุณไผ่-ปัญจพล กุลปภังกร” เปิดตัวนางกวักเวอร์ชั่นมิลเลนเนียล นางกวักที่หิ้วกระเป๋าแบรนด์ ใส่แว่นดำ สีเดียวกันทั้งนางกวัก ทั้งหมดคืออินเนอร์ของดีไซเนอร์ ที่อยากส่งพลังความหมายของนางกวักให้อินเตอร์ขึ้น ทันสมัยขึ้น ภายใต้แบรนด์ที่ชื่อ THIS.MEANS.THAT และไม่น่าเชื่อว่า นางกวักแฟชั่นนี้เอง ผู้ประกอบการหลายท่านเห็นแล้วโดน! และเชื่อว่าจะกวักเงินกวักทองให้ได้ นางกวักถูกซื้อไปตั้งไว้ตามร้าน ตามออฟฟิศ เหมือนกับที่นางกวักรุ่นคลาสสิคเคยถูกเชื่อกันมาแล้ว ไอเดียนี้วันสยามขอยกย่องว่า ทั้งเก๋ สวยงาม มีความหมาย อยากรู้ต่อว่าแล้วกว่าจะสร้างนางกวักสายแฟชั่นออกมาได้ ทั้งคุณนกและคุณไผ่ เริ่มต้นจากอะไรกัน?

“เราเรียนด้านออกแบบกันมา นกเรียนโปรดัคท์ ดีไซน์ ส่วนไผ่ออกแบบเครื่องประดับ ตอนแรกนกทำงานที่เอเจนซี่ก่อน ไผ่ก็ทำเครื่องประดับของตัวเอง แล้วอยู่ดีๆ ก็คือว่าอยากทำโปรดัคท์กัน อยากแชร์สิ่งที่เราเชื่อออกไป เลยเกิดเป็น THIS.MEANS.THAT” คุณนก และคุณไผ่ให้ธรรมชาติของความชอบของตัวเองค่อยๆ เผยสิ่งที่อยากบอกโลก เริ่มจากอยากบอกโลกว่า “ทุกสิ่งคือการสื่อสารออกไป” ทั้งสองเชื่อว่าสิ่งๆ หนึ่งจะต้องมีวิธีสื่อสารที่ทำให้เกิดความรู้สึกในหัวใจคนได้ และเมื่อเกิดแล้ว ก็จะเป็นความหมายที่มีอิทธิพลกับชีวิตคนตามมาได้

“เราตั้งชื่อแบรนด์จากความหมายว่า “สิ่งนี้หมายถึงสิ่งนั้น” จริงๆ มาจากหนังสือ ที่น่าสนใจมากเล่มหนึ่ง เป็นเล่มแรกที่เราดูด้วยกัน เกี่ยวกับการเปลงความจากภาพ ว่าภาพๆ หนึ่งจะได้ความหมายอะไร” กลายเป็นแพชชั่นในใจของทั้งคุณนกและคุณไผ่ ว่าเวลาเห็นอะไรจะต้องแอบคิดว่า จะแปลงความหมายออกมาเป็นอะไรได้บ้างนะ “อย่างเช่นถ้าเราเห็นตัวจราจรอยู่กลางถนน เราจะสามารถสื่อสารได้ยังไงบ้างนะ ก็เลยเริ่มคิดเอาสิ่งที่คนชิน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ เรื่องราว ภาพ เอามาแปลงความหมายใหม่ เล่าเรื่องใหม่ ผ่านตัวคอนเทนท์ที่มีความเป็นสมัยปัจจุบัน”

แล้วบิ๊ก ไอเดียนี้ของทั้งสอง ก็พาให้มาเจอกับนางกวัก สิ่งคุ้นตาของคนไทย ความเชื่อที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง “ความยากของดีไซน์แรกของเราก็คือ มีคนทำของเต็มไปหมด เราจะทำอะไรดี เลยคิดว่าอยากทำของแต่งบ้าน แล้วบ้านไผ่อยู่แถวเสาชิงช้า มีร้านสังฆภัณฑ์เยอะมาก แล้วเห็นมีนางกวักทุกร้าน ก็เลยคิดว่านี่ล่ะ มีฟังก์ชั่นความเชื่อเข้ามาด้วย จุดที่ยากคือการเลือกสิ่งที่คนชินตาแล้ว ถ้าเลือกถูกจะไปฉลุยเลย แต่ถ้าผิดก็อาจจะธรรมดาเกินไป” คุณนกเล่าถึงโปรดัคท์แรกของ THIS.MEANS.THAT ทำไมต้องเป็นนางกวัก



หลังจากนั้นจึงเกิดนางกวักรุ่นครอบแก้วขึ้นมาในปี 2014 ชื่อคอลเล็คชั่นว่า Welcome เป็นนางกวักที่คิดจากการตีความของทั้งสองดีไซเนอร์ที่ให้การตีค่าความรวยที่เปลี่ยนไป “อย่างผู้หญิงมีฐานะทั่วๆ ไปจะใช้แบรนด์เนมอยู่แล้ว เราเลยทำนางกวักให้แฟชั่นขึ้น ทำทั้งหมด 3 สี คือ เขียว ชมพู และเทา” และขั้นตอนที่กว่าจะได้นางกวักเปรี้ยวๆ นั่งกวักมือแบบนี้ คุณนกและคุณไผ่ไปลุยกันจนถึงโรงงานหล่อพระกันเลยทีเดียว

“เริ่มคิดทำจากออริจินัลเลย คืออยากรู้ว่าเขาหล่อนางกวักกันมาได้ยังไง เลยไปซื้อนางกวักจริงๆ มา แบบที่เขายังไม่ได้ลงสี ลงชุด แล้วเอาตะไบ เอาสีลองมาขัด มาทาใหม่ดู ถ้าเปลี่ยนรูปแบบแล้วคนจะยังคุ้นกับนางกวักไหม” คุณนก และคุณไผ่เล่าว่า ขั้นตอนนี้ขนลุกขนพองกันเลย “เหมือนตอนขัด เราต้องมองเธอตลอดเวลา มีหลอนๆ เหมือนกันนะ”

ขั้นต่อไปคือคุณนก และคุณไผ่จะเริ่มลดทอนรายละเอียดของนางกวักให้หมด เหลือแค่เป็นนางกวักเรียบที่สุด “เราเอากลิตเตอร์ออก เอาสีออก เหลือแต่ตัวนางกวัก ก็มีชุดไทย กระเป๋า มีรูปแบบมือ เราจับมาได้สามสี่อย่าง แล้วก็เริ่มดีไซน์เพิ่ม เริ่มจากไปคุยกับช่างที่ทำงานขี้ผึ้ง ให้เขาช่วยขึ้นรูปให้ และไปโรงหล่อพระ เราคิดดีไซน์ใหม่ แต่ไปรวมกับอะไรที่ดั้งเดิม เราไปหาคนที่ทำอยู่แล้ว เขาเคยขึ้นอยู่แล้ว มีฝีมือด้านนี้ คือเราเอาของเก่าและใหม่มารวมกัน”

ไม่ใช่ว่านางกวักที่มีดีไซน์เบลนด์ความเก่า และความทันสมัยของดีสมีนแดทจะออกมาเป็นหน้านางกวักแบบนี้แต่แรก เพราะ “ตอนแรกทำเหมือนพริตตี้ แต่พอขึ้นรูปแล้วกระแสไม่น่าได้ ก็เลยปรับเป็นเหมือนเดิม เราลองหลายแบบมาก พอได้ทรงที่เราชอบ ก็เริ่มไปดูว่าจะเปลี่ยนอะไรอีก เช่น ถุงเงินถุงทอง เราก็เอาเป็นกระเป๋ามาแทนค่า ที่เลือกสีแบบนี้ก็เพราะ อยากให้เข้ากับความหลากหลายของสถานที่ที่จะไปอยู่”

ความมหัศจรรย์ของนางกวัก THIS.MEANS.THAT ก็คือเมื่อออกมาวางขายแรกๆ คุณนกเล่าว่า มีคนซื้อไปลงของจริงๆ เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องของขลังขอซื้อไป แต่ด้วยกาลเวลาที่ผ่านไป ก็เลยมาเป็นของแต่งบ้านมากขึ้น แต่ก็ยังมีโชว์รูมพระติดต่อมาว่าจะเอาไปขายอยู่ดี

พอได้รูปแบบนางกวักที่ชอบแล้ว หลังจากนั้นก็เป็นงานมือของคุณนก คุณไผ่ล้วนๆ “รุ่นแรกที่มีครอบแก้ว ทำออกมา 400 ตัว ขัดเอง ทำสีเอง พ่นสีเอง ต้องสั่งซื้อสีที่มีคุณภาพที่แพนโทนเยอะๆ ก็ไปถามคนกราฟิตี้ว่าต้องยี่ห้อไหน เป็นสีของนอกหมดเลย ทำออกมา 20 ชิ้นก่อน แล้วพอประกาศปุ๊บ ขายหมดเลย แล้วไปออกงานงานด้วย ขายไป ทำไป เอานางกวักไปนั่งขัดตอนขาย แล้วเอากลับมาทำสีที่บ้าน ได้รับผลตอบรับดีมาก”

และแน่นอนว่านางกวักของ THIS.MEAN.THAT เป็นที่เข้าตาของ The Selected สยามเซ็นเตอร์ นางกวักได้เข้ามาขายที่นี่ ต่อด้วยโซน ODS สยามดิสคัฟเวอรี่ และนางกวักก็เป็นที่ฮิตของคนทั่วไป ฮิพสเตอร์ ดีไซเนอร์ คนวงการค้าขาย วงการครีเอทีฟในเวลาไม่นาน

นางกวักแฟชั่นออกมากวักมือเรียกคนได้สักระยะหนึ่ง คุณนก และคุณไผ่ก็คิดโปรดัคท์ชุดต่อมา เหรียญโซลเมท (Soulmate) ที่ข้างหลังเหรียญมีคาถามหานิยม ทั้งสองบอกว่า “เราเล่นที่ความหมาย ที่เปลี่ยนจากกวักมือ มาทำเป็นความรักแทน พอทำออกมาแล้วจะเข้าถึงคนได้ง่ายกว่า” โปรดัคท์นี้ไม่น่าเชื่อว่าคนต่างชาติที่ไม่ได้มีความเชื่อแบบคนไทยเรา กลับซื้อไปกันเยอะ จนเกิดเป็นไอเดียต่อมาก็คือหมูสองหัวที่ชื่อว่า Lucky Pig



“หมูสองหัวนี้คนไทยเชื่อกันว่า ถ้าสัตว์ที่เกิดมาผิดรูปผิดร่าง ก็จะไปขอหวย ทำออกมาตอนแรกๆ คนยังไม่เข้าใจ ส่วนใหญเป็นคนเล่นหวยถึงจะเข้าใจ ตอนเริ่มทำต้องยืนอธิบายจนเค้าเข้าใจ” หมูสองหัวถือเป็นของประดับที่แปลกตาสำหรับคนไทย แต่ก็มีความหมายที่น่าสนใจไม่น้อย หลังจากนั้นดีสมีนแดทก็เริ่มทำพิมพ์เล็กๆ ใช้ไอคอนนางกวัก ชื่อ มหาเลิฟ มหารวย มหาไลค์ เกิดมาจากความรัก ชื่อเสียง เงินทอง และทำเป็นผ้ายันตร์นางกวัก มีลายเป็นไอคอนต่างๆ ด้วย



จนตอนนี้ THIS.MEANS.THAT มีความชัดเจนในดีไซน์ของตัวเอง เป็นที่รู้จักในวงการนักออกแบบ เป็นแรงบันดาลใจให้กับดีไซเนอร์รุ่นน้อง และใครอีกหลายคนที่อยากผลิตดีไซน์ของตัวเอง ต่อยอดอีกหนึ่งความฝันของคุณนก คุณไผ่นั่นก็คือ “อนาคตแพลนว่าจะขายเป็นเซอร์วิส ดีไซน์มากกว่า โปรดัคท์ที่ทำก็ปล่อยให้รันต่อไป แล้วเราได้เริ่มทำงานกับหน่วยงานต่างๆ เช่น TCDC กระทรวงวัฒนธรรม ที่เราลงไปกับสามจังหวัดชายแดน ทำผ้าบาติคกัน ก็เลยทำเป็นสเปซของเราเอง ใครอยากทำดีไซน์ผลิตภัณฑ์อะไร ก็มาคุยกับเราได้”



เรียกได้ว่ารอเลยดีกว่า THIS.MEANS.THAT ต้องมีอะไรเซอร์ไพรส์คนไทยออกมาอีกแน่นอน แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้นางกวักเปลี่ยนทรงผมแล้ว ล้ำมาก ใครอยากได้นางกวัก หมูสองหัว เหรียญ ประดับบ้าน หรือพอติดตัวไว้ ลองมาดูกันใกล้ๆ ที่โซน ODS ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่กันได้เลย

YOU MAY ALSO LIKE