ในวันที่ภูมิปัญญาชาวบ้านโดดเด่นบนเวทีงานออกแบบระดับโลก
When Designers Getting Back to Local
จากหนึ่งในหลากหลายคุณสมบัติของคำว่า Eco วันนี้เราเลือกมองถึงเรื่องการย้อนกลับสู่อุตสาหกรรมวิถีพื้นบ้าน ความสัมพันธ์ของสองปัจจัยหลัก คือ ดีไซเนอร์ ผู้เนรมิตผลงาน ตัวแทนจากความร่วมสมัยของยุคปัจจุบัน กับ ต้นตำรับกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมของชุมชนพื้นบ้านต่างๆในประเทศไทย วันนี้เรามาคุยกับ ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ที่นำภูมิปัญญาจากบ้านเกิดมาสร้างสรรค์เป็นผลงานร่วมสมัยที่โดดเด่น ออกสู่สายตาคนรุ่นใหม่
Ritimian เสน่ห์ของผ้าย้อมม่อฮ่อมในภาคอีสาน
“สำหรับพวกเค้า เค้าไม่ได้มองว่ามันเป็นอาชีพหรือเป็นงานอย่างเดียว แต่มันรวมเอาวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ความเชื่อท้องถิ่น อยู่ในลวดลายบนผ้าเหล่านี้ด้วย ผลงานจึงเป็นชีวิตและมีความละเอียดอ่อน” - Ritimian
แบรนด์เสื้อผ้าฝีมือคนไทย “ริติเมียน” มาจากชื่อสองพี่น้องที่ร่วมกันก่อตั้งแบรนด์ วันนี้เราได้พูดคุยกับ คุณกิ๊ก ดีไซเนอร์ออกแบบผลงานเสื้อผ้าย้อมม่อฮ่อมที่โดดเด่นของแบรนด์ จากอดีตเคยทำงานเป็นนักออกแบบชุดแต่งงานให้กับลูกค้าที่สวีเดน เธอเล่าว่าหลังจากที่ย้ายกลับไปอยู่บ้านที่จังหวัดบึงกาฬ เธอก็ได้สังเกตเห็นเสื้อผ้าที่คนท้องถิ่นสวมใส่ไปวัดกัน เป็นลวดลายงานปักที่มีความละเอียดไม่เหมือนงานที่เคยเห็นมาก่อน แบรนด์ริติเมียนจึงเริ่มต้นขึ้น เป็นการร่วมมือกันของสองภูมิภาค คือผ้าฝ้ายคุณภาพดีจากภาคเหนือ เดินทางตรงมาสู่ภาคอีสาน จังหวัดบึงกาฬ อันเป็นแหล่งผลิตผลงานผ้าย้อมม่อฮ่อมสีน้ำเงินสดออกมาให้เห็นกัน ลวดลายที่เกิดจากความเชื่อริมฝั่งโขง เช่นพญานาค ถูกนำมาปรับแต่งให้เข้ากันกับยุคสมัยมากขึ้น เกิดเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่ยังไม่ละทิ้งอัตลักษณ์ดั้งเดิมของม่อฮ่อมในภาคอีสานไป
ดีเทลบนผลงานของ Ritimian ปักมือด้วยลวดลายพื้นบ้านของชาวชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง
Cone No.9 งานเซรามิกจากลำปางผสมผสานกับวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของคนเมือง
“เราอยากทำให้งานคราฟท์ของประเทศเราเอง เป็นงานที่อยู่ในมาตรฐานจริงๆ ได้ เป็นงานที่มีคาแรคเตอร์ของท้องถิ่นเรา และก็มีคุณภาพต่อการใช้งาน” - Cone No.9
“Cone No.9” เป็นแบรนด์ที่อุทิศตัวเองให้กับการเป็นผู้ผลิตภาชนะบนโต๊ะสำหรับกินกาแฟ ตัวแทนของจังหวัดลำปาง อันเป็นบ้านเกิดของดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ คุณวรามล (มินต์) เธอเล่าว่า แรกเริ่มสนใจกับการดื่มกาแฟก่อน ทำให้รู้ว่าการดื่มกาแฟ ถ้วยกาแฟที่ใช้ก็มีผลต่อรสสัมผัสเหมือนกัน บวกกับความรู้ที่เคยศึกษาในงานปั้นมาก่อน จึงทำให้แบรนด์ Cone No.9 เริ่มต้นขึ้น สาเหตุที่เป็นลำปาง เพราะดินในแต่ละที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป และเธอค้นพบว่าดินที่ลำปาง ถูกจริตกับการทำถ้วยกาแฟในแบบของ Cone No.9 มากที่สุด ในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เธอเล่าต่อว่า ข้อดีของการทำงานแบบโรงงานที่ยังมีระบบทำมือของชาวบ้านอยู่ คือความละเอียดที่ไม่สมบูรณ์ กล่าวคือไม่ได้จำเป็นต้องเหมือนกันเป๊ะ 100% แบบเครื่องจักรในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ช่วยทำให้ เธอค้นพบ เสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ภายในถ้วยกาแฟรูปแบบต่างๆ ของแบรนด์
ผลงานถ้วยเซรามิกของ Cone No.9 ที่มีโมเดลอันหลากหลาย ทุกๆ อันล้วนมีเสน่ห์ของแต่ละใบแตกต่างกันออกไป
Taktai จากใยผ้าไม้ไผ่สู่งานออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นที่ร่วมสมัยอย่างไทย
“ไอเดียของทักทายคือ ความเป็นผ้าไทย ความธรรมชาติที่ชาวบ้านทำกันแบบของพวกเขา สามารถเข้ามาขายในตัวเมืองได้ เป็นอะไรที่ใกล้ชิดกัน สามารถสื่อสารกันได้ เลยใช้คำว่า ‘ทักทาย’ ที่ฟังแล้วมันดูจับต้องได้ อยากทำให้คนกล้าในยุคปัจจุบันใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น” - Taktai
หนึ่งแบรนด์เสื้อผ้าที่เราอยากพูดถึงเช่นกันคือ “ทักทาย” ผลงานของ คุณกัญจิรา เจ้าของและดีไซเนอร์ของแบรนด์ ผลงานเสื้อผ้า Ready to Wear นำเอาผ้าเส้นใยธรรมชาติ ที่เป็นวัสดุจากเกษตรกรรมพืชไม้ต่างๆ มาใช้ในการถักทอเป็นผ้า ส่วนวัตถุดิบที่ทางแบรนด์เลือกใช้เป็นหลักเลยคืิอ เส้นใยไผ่ ที่ทางคุณกัญจิราเล่าว่า เป็นวัตถุดิบที่เคยมีคนศึกษาเอาไว้แต่ไม่มีใครต่อยอดมากว่า 10 ปีแล้ว จุดเด่นก็คือ มีคุณสมบัติในการป้องการยูวี และยับยั้งการเกิดเชื้อแบคทีเรียได้ ยิ่งไปกว่านั้นเส้นใยไผ่สามารถปรับตัวตามสภาพภูมิอากาศที่ขณะสวมใส่ได้จากงานวิจัยไทยที่ทางแบรนด์มองเห็นเพืิ่อทดแทนการนำเข้าคอตตอนที่เป็นวัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเมืองไทย บวกกับการนำพาอาชีพไปสู่ชุมชนภาคอีสาน ที่มีฝีมือในการทอผ้าอันละเอียดอ่อน จึงทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมานี้แบรนด์ทักทาย เป็นที่จับตามองในวงการ Eco ของบ้านเราพอสมควร
ตัวอย่าง Loobook จาก Collection ในปีนี้และปีที่ผ่านมาของแบรนด์ แสดงให้เห็นถึงทิศทางการออกแบบที่ไปสู่ความร่วมสมัยกับเทรนด์ในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ลืมที่จะชูเอาเอกลักษณ์เนื้อใยผ้าจากไม้ไผ่ เป็นสาระสำคัญ
Maison Craft จับเอาภูมิปัญญาชาวบ้านมาสู่ตลาดของการตกแต่งบ้านในระดับสากล
“จริงๆ ย้อนไปตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเลย แต่ละประเทศงานหัตถกรรมเทคนิคมันก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่นะ มันจะต่างกันตรงเรื่องวัสดุที่ใช้ในเวลานั้นๆ อย่างของไทยเราก็จะโดดเด่นพวกงานผ้า หรือ งานไม้อ่อน พวกงานสอดสาน ถักทอต่างๆ ที่บ้านเราจะทำออกมาได้ละเอียด และจุดนี้เราอยากให้มันออกไปถึงสากล” - Maison Craft
Maison Craft รวมเอางานดีไซน์จากท้องถิ่นในบ้านเรา หยิบจับมาผสมกับไอเดียของการออกแบบที่ร่วมสมัยของผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์ คุณเมทินี กำลังเป็นที่พูดถึงในวงการงานออกแบบของไทยและได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากต่างประเทศ ในทิศทางของงานหัตถกรรมแบบสอดสาน ที่เจ้าตัวกล่าวว่าเป็นกรรมวิธีในท้องถิ่นที่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ งานสานที่มีขนาดใหญ่ตั้งแต่เสื่อปูนอนที่เราคุ้นตากัน ไปจนถึงที่รองจานและรองแก้วที่ใช้กรรมวิธีเดียวกัน ต่างกันตรงขนาด ข้อดีของงานสานที่ดีไซเนอร์ชื่นชอบก็คือเป็นการผลิตที่ทำให้ผลงานออกมาดูแลรักษาง่าย หากมีคราบเลอะเทอะ ก็สามารถนำไปซักและผึ่งตากให้อากาศระบายได้ ส่วนสิ่งที่แบรนด์เพิ่มเติมเข้ามาก็คือลวดลายบนงานสานที่ช่วยทำให้กลายเป็นของตกแต่งภายในบ้าน ที่มองแล้วกลมกลืนร่วมสมัยกับรสนิยมของคนในปัจจุบัน
กรรมวิธีการทอเสื่อของจังหวัดในภาคตะวันออก นำมาปรับปรุงและต่อยอดไอเดียจนเป็นของใช้ในบ้าน ในแบบของ Maison Craft
ทั้ง 4 แบรนด์ที่เราได้พูดคุยกันไปในบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายๆ แบรนด์ของโซน Ecotopia บนชั้น 4 สยามดิสคัฟเวอรี่เท่านั้น ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่มากไปด้วยไอเดียดีไซน์สร้างสรรค์บนความคิดถึงภูมิปัญญาบ้านเกิด และการกลับคืนสู่ชุมชนรอให้คุณมาสัมผัสด้วยตัวเอง ที่ศูนย์รวมผลิตภัณฑ์รักษ์โลกอย่างสร้างสรรค์ใจกลางเมือง สยามดิสคัฟเวอรี่