BACK TO EXPLORE

Maison Craft งานทำมือแบบไทยๆ ที่คนต่างชาติเห็นแล้วทึ่งไปทั่วโลก!

Maison Craft งานทำมือแบบไทยๆ ที่คนต่างชาติเห็นแล้วทึ่งไปทั่วโลก!
งานหัตถกรรมกับดีไซน์สุดโมเดิร์นที่คนรักบ้านจะพลาดไม่ได้

เวลาที่เห็นงานหัตถกรรมไทยๆ คุณรู้สึกยังไงบ้าง? สำหรับเด็กเจเนเรชั่นใหม่อาจมองว่าดูสูงวัยเกินตัว ถ้าจะต้องใช้งานทำมือของชาวบ้านมาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ใช่กับผู้หญิงคนนี้ เพราะเธอบอกว่าอยากเอาสิ่งที่ตัวเองหลงใหลมาใส่ความเป็นคนเมืองเข้าไปกลายเป็นแบรนด์ Maison Craft ที่คนไทยและคนต่างชาติเห็นก็ต้องอยากหยิบไปแต่งบ้าน เห็นเมื่อไหร่ก็ภูมิใจในชาติตัวเองแบบสุดๆ


เมทินี รัตนไชย (เมย์) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Maison Craft
คุณเมย์เล่าว่าเริ่มสร้างแบรนด์นี้ด้วยตัวเองคนเดียวก่อน ย้อนกลับไปแรกสุด เมื่อ 2 ปีที่แล้วเธอได้ไปเรียนด้าน Entrepreneur และเอาสิ่งที่มีครีเอทงานออกมาได้อย่างน่าสนใจ “เรามีแบ็คกราวน์ด้านการออกแบบอยู่แล้ว เลยผสมสิ่งที่มีอยู่กับธุรกิจ คิดแล้วว่าเราจะอยู่กับสิ่งนี้ได้ตลอด ต้องเป็นสิ่งที่เมย์รัก เมย์มีพื้นเพมาจากต่างจังหวัด เห็นหัตกรรมพื้นบ้านเป็นเรื่องปกติ พอเข้ากรุงเทพก็ค่อยๆ เลือนหายไป เราอยากหยิบสิ่งที่ตัวเองชอบ เอากลับมาในวิถีคนเมือง นั่นคือจุดริเริ่มจนถึงทุกวันนี้ก็มีพาร์ทเนอร์เพิ่มขึ้นมาอีก 2 คน”



งานแสดงเล็กๆ ที่เห็นความยิ่งใหญ่ในความเป็นไทย
“ไอเดียแรกเราเริ่มทำรีเสิร์ชก่อนว่าธุรกิจแนวนี้ทำได้มั้ย ส่วนใหญ่เป็นโมเดลจากต่างประเทศ เราเห็นตลาดต่างประเทศที่ชื่นชมงานทำมือ เขาไม่เคยเห็นของเรามาก่อน ยิ่งแปลกตา พอประทับใจก็ซื้อกลับไป หลังจากนั้นเมย์ก็หาผู้ผลิตแนวจักรสารที่งานเนี้ยบๆ ส่งออกได้ คัดมา 2-3 แบบ แล้วเอาไปทำป๊อบอัพที่อังกฤษ ไปเช่าพื้นที่ว่างเล็กๆ ที่เคยไปเจอตอนเรียนอังกฤษ ที่ตรงนั้นเป็นที่ร้างๆ แต่เราเห็นว่าอยู่กลางสี่แยก เป็นตลาดวันเสาร์อาทิตย์มีคนเดินผ่านไปมา เราเข้าไปขอเจ้าของว่าจะจัดงานสั้นๆ ไม่รบกวนนาน เราเอาของที่เห็นตามบ้านธรรมดาในไทย แต่มันเป็นที่ยอมรับในพิพิธภัณฑ์ของต่างชาติ คิดว่าถ้าอยู่ในช้อป คนจะซื้อมั้ย เราเอาแซมเปิ้ลเล็กๆ น้อยๆ ไปจัดนิทรรศการกึ่งๆ ช้อป เล่าเรื่องงานหัตถกรรม ที่ต่างประเทศเขาจะมองว่าเป็นงานแสดงโชว์ แต่บ้านเราเอาไปใช้จริง เป็นการเล่าเรื่องพร้อมขายสินค้าเล็กๆ เราแค่อยากดูว่าคนจะมาถามอะไร คนก็มาขอซื้อ มีคนเข้ามาดูงานเรื่อยๆ เพราะเราทำเวิร์คช้อปตลอดทั้งวัน พาเพื่อนมา บางคนเห็นจากทวิตเตอร์ มีคนหนึ่งอยู่สก็อตแลนด์ เขาแวะมาหาลูกสาวก็มางานเรา เราก็ประทับใจมากค่ะ”



ออกงานสร้างฐานลูกค้าไปประเทศต่างๆ
คุณเมย์บอกว่าเห็นชัดเจนแล้วว่าแบรนด์ Maison Craft ต้องโฟกัสไปที่ต่างชาติ 60-70% ส่วนคนไทยก็จะเป็นกลุ่มที่พรีเมียม เธอจึงไปออกงาน exhibition ของศูนย์ศิลปาชีพนานาชาติหรือ  SACICT ของกระทรวงพาณิชย์ ปี 2016 เป็นการเปิดตัวในไทยครั้งแรก “เราได้คัดเลือกจากรัฐบาล ในงานได้เชิญบายเออร์จากฝรั่งเศสมาสัมภาษณ์กับเมย์ ให้เขาไกด์ด้วยว่าสินค้าโอเคมั้ย พัฒนาอะไรบ้างหรือเปล่า พอได้ไปออกงาน BIG เราขอพื้นที่เล็กๆ จัดแสดงและงานนี้เป็นกลุ่มคนซื้อจริงๆ เราได้ออเดอร์จากงาน BIG เป็นครั้งแรก มีลูกค้าญี่ปุ่น ฝรั่งเศสมาสั่ง นอกจากนี้เมย์เป็นสมาชิกบริษัทไทยคราฟท์ที่ช่วยเป็นตัวกลางส่งออกด้วย” เราถามว่ารู้สึกว่าประสบความสำเร็จจริงๆ เมื่อไหร่ เธอบอกว่าการไปออกงานแรกๆ จะเป็นการเปิดโลกของตัวเองให้คนไทยรู้จัก แต่มาในช่วงปีที่แล้วที่เริ่มมีรายได้มากขึ้น ถือว่าใช้เวลาไม่นานแต่ก็มีชื่อเสียงในวงการงานออกแบบเลยทีเดียว



ทำงานหัตถกรรมในรูปแบบใหม่
ขั้นตอนในการทำสินค้าแต่ละชิ้น คุณเมย์จะเข้าไปหาถึงแหล่งผู้ผลิตแล้วเข้าไปสร้างงานดีไซน์ที่ปรับไปพร้อมองค์ความรู้ของชาวบ้าน “เริ่มจากหาซัพพลายเออร์ เราเห็นแล้วว่าชอบงานไม้ไผ่ เราก็ไปที่อยุธยาหรือชลบุรี กว่าจะได้มาเราก็ต้องให้เขาทดลองทำ ลองปรับไปเรื่อยๆ ดูฝีมือว่าตรงนี้ได้งานประมาณนี้ อีกกลุ่มได้งานอีกแบบ เราจะมีซัพพลายเออร์หลายๆ ที่ แต่ถ้างานพรีเมียมมากๆ จะมีผู้ผลิตอีกกลุ่มทำให้ เราเอางานหัตถกรรมที่คนในปัจจุบันไม่นิยม มาทำให้อยู่ต่อไปได้ทั้งวงจร โปรดักท์ต้องตอบโจทย์ตลาด ผู้ผลิตก็มีกำลังใจ ปัญหาคือเขาทำงานหัตถกรรมแบบเดิมๆ ซึ่งเป็นกลุ่มคนวัยเกษียณ แต่เมย์จะโฟกัสที่กลุ่มคนเจนใหม่ว่าเขาต้องการอะไรกันแน่ เราปรับให้ตรงกับเขามากขึ้น พอได้ออเดอร์ก็ได้งานต่อเนื่องเรื่อยๆ งานเดิมในชุมชนของชาวบ้านก็ยังทำอยู่ เพราะยังมีกลุ่มคนเกษียณที่ต้องการโปรดักท์นั้น เขามีทางเลือกมากขึ้น เพราะเขายังมีเราคอยซัพพอร์ตอยู่ ก็มีคนรุ่นใหม่ที่มาทำงานมากขึ้น เขาก็ปรับตัวที่จะอยู่กับกลุ่มดีไซเนอร์” ผลงานที่ทุกคนจำได้ของแบรนด์ก็คือโคมสานที่ดูบ้านๆ ของไทยเรา แต่ยังดูมีความดิบๆ อยู่กับบ้านที่โมเดิร์นให้ดูเป็นสมัยใหม่ ให้บ้านมีสไตล์เป็นของตัวเอง ตรงกับคอนเซปท์ของ Maison Craft ที่อยากเป็นของแต่งบ้านแบบบ้านๆ แต่มีความเป็นสากล เพราะคุณเมย์ตั้งชื่อว่า maison ที่แปลว่าบ้าน ไม่ได้อยากให้ดูเป็นวัง อยากให้เป็นบ้านหลังเล็กๆ ที่ทำมาจากครัวเรือน



ผิดพลาดจนเป็นเรื่องธรรมดา
ถึงเธอจะเรียนออกแบบอินทีเรียมา แต่คุณเมย์ก็ยอมรับตรงๆ ว่า “เรามองได้แค่ว่าอะไรดีไม่ดี สวยหรือไม่สวย เราไม่ได้เชี่ยวชาญขนาดนั้น เพราะวิธีการสานว่าสานยังไง ผู้ผลิตเขาก็สอนเราว่าสานอย่างนี้ได้นะ หรือเราก็ถามคุณป้าตรงๆ ว่าทำทรงนี้ได้มั้ย เราทำบล็อคมาให้เขา เช่น เราอยากสานลายชะลอมแต่เป็นทรงใหม่ เราก็เรียนรู้ไปด้วยกัน แต่เทคนิคดั้งเดิมเราไม่ได้ให้เปลี่ยนแปลง อาจจะมีแค่เปลี่ยนรูปทรง เปลี่ยนสี ยังไงให้คนเห็นรู้ว่าเป็นของไทย แต่ถูกเปลี่ยนไปในแบบอื่น เพราะก่อนหน้านี้ก็ทำงานออกแบบให้คนอื่นมาโดยตลอด ไม่เคยมีสิ่งที่ตัวเราเป็น เราเลยอยากมีแบรนด์ที่เป็นของบอกความเป็นเราและเป็นงานคราฟท์ แฝงเสน่ห์ความเป็นไทย เลยออกมาเป็นโคมที่เปลี่ยนรูปร่างได้ กระเป๋ารังไหม เป็นรังไหมประดิษฐ์มีคุณสมบัติกันน้ำ คนมองด้วยตาจะไม่รู้ถึงกิมมิคเล็กๆ เราเลยเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างตั้งราคาก็เคยคิดผิดกลายเป็นขาดทุน ก็ต้องปรับมาเรื่อยๆ”




ตลอดการได้คุยกับ Maison Craft ทำให้เราเห็นคุณค่าตั้งแต่การออกแบบไปถึงการผลิตอย่างประณีต สุดท้ายนี้เราคงต้องเอาใจช่วยกับตลาดงานคราฟท์ โดยเฉพาะของตกแต่งบ้านที่เราสามารถปรับของไทยๆ ให้ดูโมเดิร์น วันนี้คนไทยจะเข้าถึงงานคราฟท์แบบไทยๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะว่าสินค้าของ Maison Craft ได้มาวางขายที่ ODS ชั้น 3 และ Ecotopia ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ทุกคนสามารถมาเลือกสไตล์ในแบบที่ชอบกันได้เลย

YOU MAY ALSO LIKE