BACK TO EXPLORE

ศ. หลังสวนเบญจรงค์

ศ. หลังสวนเบญจรงค์
จากรักแรกพบสู่การบุกเบิกชุมชนช่างศิลป์ในบ้านเกิดโดย ’ครูกุ้ง พนิดา แต้มจันทร์’

ชุมพรในความทรงจำคือประตูสู่ภาคใต้ที่ครบด้วยสีสันแห่งธรรมชาติ ทั้งหาดทรายที่ทอดตัวยาวริมอ่าวไทยคล้ายไม่สิ้นสุด ทะเลอุดมสมบูรณ์ที่หาวาฬชมได้ไม่ยากนัก โฮมสเตย์ขึ้นชื่อที่มีอาหารทะเลสดเทียบระเบียงบ้านในทุกเช้า และป่าเขาเขียวขจีบริสุทธิ์ วิถีชีวิตที่ใกล้ชิดธรรมชาติเช่นนี้บันดาลใจให้ช่างศิลป์มาหลายยุคสมัย และน้อยคนนักที่จะทราบว่าในชุมพรนี้เองก็มีชุมชนคราฟต์ท้องถิ่นที่สร้างเอกลักษณ์งาน ‘เบญจรงค์’ ด้วยตนเอง ก่อร่างสร้างตัวด้วยสองมือและหนึ่งหัวใจของผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้พบรักกับศิลปะชนิดนี้และพาความหลงใหลกลับบ้านเกิดเพื่อบุกเบิกชุมชนเบญจรงค์ด้วยตนเอง



รักแรกพบ เบญจรงค์ และบ้านเกิด คือสามคำสั้นๆ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนของ ครูกุ้ง - พนิดา แต้มจันทร์ ให้ออกเดินตามความฝัน หันหลังให้เมืองใหญ่แล้วกลับบ้านมาบุกเบิกกิจการของตนเอง โดยเธอคือครูช่างศิลปหัตถกรรมผู้ก่อตั้ง “ศ. หลังสวนเบญจรงค์” หรือในชื่อสากลที่เธอตั้งขึ้นว่า “Hearterpiece” ณ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรที่เธอเกิดและเติบโต เพราะสำหรับเธอแล้ว ลวดลายเบญจรงค์ที่เขียนขึ้นด้วยมือของเธอทุกชิ้นคือ ‘งานศิลปะแห่งรัก’ โดยเธอใช้ความรักเข้าชุบชีวิตงานเบญจรงค์ให้โลดแล่นในโลกปัจจุบัน และผนึกชุมชนที่บ้านให้แข็งแกร่งอีกครั้ง



หากจะเอ่ยถึงรักแรกพบ รักครั้งแรกของครูกุ้งไม่ใช่ใครที่ไหน เล่าย้อนกลับไปยังสุดสัปดาห์หนึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อนในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ในวันนั้นร้อนอบอ้าวแต่เต็มไปด้วยความสุข เพราะนั่นคือครั้งแรกที่เธอได้รู้จัก ‘งานศิลปะเขียนลายเบญจรงค์’ เธอเล่าว่าจากวันที่เธอได้รู้จักงานเขียนลายเบญจรงค์แล้ว เธอตั้งใจจะทำงานศิลปะนี้ให้เป็นมากกว่างานอดิเรก



ด้วยความหลงใหลในงานศิลปหัตถกรรมเป็นทุนเดิม ครูกุ้งจึงเข้าไปคลุกคลีกับครูช่างศิลป์ทุกสุดสัปดาห์ที่ว่างจากการทำงานประจำ เธอเล่าว่านอกจากเรียนเขียนลาย ลงสี และลงทองอย่างจริงจังแล้ว เธอยังช่วยงานทุกชนิดในโรงเรียนตั้งแต่หาลูกค้า ติดต่อหาซื้อวัตถุดิบ และหาตลาดขายงานเบญจรงค์ เมื่อได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนก็ยิ่งหลงใหลและหลงรัก เธอจึงมีแนวคิดที่จะหันหลังให้เมืองใหญ่ กลับบ้านเกิดเพื่อบุกเบิกชุมชนช่างศิลป์ของตนเอง



เมื่อความฝันกลายเป็นแผนชีวิต ครูกุ้งตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ขายอพาร์ตเมนท์ในกรุงเทพฯ กำความฝันจับมือครอบครัวกลับชุมพร เธอเล่าว่าเธอรู้สึกโชคดีที่มีครอบครัวที่เข้าใจและคอยสนับสนุน แม้ก้าวแรกจะเป็นไปด้วยดีแต่ก้าวถัดไปนั้นเดิมพันสูง เธอรู้ดีว่าน้อยคนในชุมชนจะรู้จักและชำนาญในงานเบญจรงค์ การเริ่มต้น ศ. หลังสวนเบญจรงค์ด้วยเงินเก็บของตนเองจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว แต่เธอก็มั่นใจเช่นกันว่าจะต้องมีรักแรกพบเกิดขึ้นอีกหลายครั้งเช่นเดียวกับเธอได้สัมผัสมา เธอจึงชักชวนคนในชุมชนให้เริ่มทำงานเขียนลายเบญจรงค์และลงมือสอนด้วยตนเอง ความอุตสาหะของเธอจึงก่อร่างสร้างเป็นชุมชนช่างศิลป์ สร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชนจวบจนทุกวันนี้



ศ. หลังสวนเบญจรงค์จึงถือกำเนิดขึ้น โดยครูกุ้งเล่าว่าเธอสรรหาวัตถุดิบจากทุกภาคทั่วไทย ใช้ความชำนาญในการเลือกดินให้เหมาะสมกับงานเบญจรงค์ เมื่อนำมาวาดลา เคลือบ และเผาจะต้องขับสีสันให้สวยเงางาม คงทนใช้งานได้ยาวนาน สำหรับสีนั้นเธอไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นห้าสีโบราณ แต่ยังคงใช้เทคนิคการเขียนลายดั้งเดิมเพื่อให้งานประณีตสวยตามแบบภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมา

เมื่อเกิดและเติบโตในประตูสู่แดนใต้ เอกลักษณ์โดดเด่นของ ศ. หลังสวนเบญจรงค์คือ ลวดลายเฉพาะที่นำศิลปะภาคใต้เข้ามาผสม เช่น ลายบุหงาปาเต๊ะ ลายสไตล์เพอรานากัน และลายบุหงาส่าหรี โดยครูกุ้งย้ำเสมอว่าเธอไม่ยึดติดกับคำว่า ‘เบญจรงค์’ ต้องมีห้าสี เธอปรับให้เข้ากับยุคสมัย มองหาสีใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาให้งานมีความร่วมสมัยและใช้งานได้ในชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่ มีสไตล์ในความเป็นไทย และส่งเสน่ห์เติมเต็มพื้นที่ที่จัดวาง เธอยืนยันว่าเบญจรงค์ต้องตามโลกสมัยใหม่ให้ทัน ไม่ใช่แค่เป็นเพียงงานศิลปะสวยงามแต่จับต้องไม่ได้



ที่ว่าตามโลกสมัยใหม่ให้ทันนั้น มากไปกว่าลวดลาย เธอยังออกแบบทรงของเบญจรงค์ให้เป็นข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นแก้วกาแฟลายสวย กระถางต้นไม้สำหรับไม้อวบน้ำต้นเล็กที่กำลังเป็นที่นิยม หรือชุดจานชามที่เปลี่ยนมื้ออาหารธรรมดาให้เป็นประสบการณ์แห่งรสชาติแสนพิเศษ นอกจากนี้ ศ. หลังสวนยังติดตามเทรนด์โลกอยู่เสมอ จับคู่สีให้ไม่ตกยุค ลองตามหาแก้วกาแฟสีม่วง Very Peri สีแห่งปี 2022 จากแพนโทนสื่อยักษ์ใหญ่แห่งวงการสิ่งพิมพ์รับรองได้ว่าไม่ผิดหวัง หรืออินไปกับสีครามให้เสน่ห์โมเดิร์นสวยจับใจ



กว่า 10 ปีที่ได้สร้างสรรค์งานเบญจรงค์ด้วยหัวใจ ความฝันของครูกุ้งผู้พบรักกับงานเขียนลายเบญจรงค์ไต่ถึงจุดสูงสุดด้วยได้รับยกย่องให้เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2557 จากศูนย์ส่งเสริมศิลปะชีพระหว่างประเทศ (SACICT) ทุกวันนี้ครูกุ้งยังคงออกแบบลวดลายงานเบญจรงค์ และหาทรงใหม่ๆ ที่จะขึ้นรูปให้เป็นของใช้ที่สอดรับกับชีวิตประจำวันอย่างชุดจานขนม แก้วน้ำ ที่วางปากกา หรือของตกแต่งรูปสัตว์วาดลาย เรียกได้ว่างานของ ศ. เบญจรงค์จึงเป็นเบญจรงค์ไทยในกลิ่นอายโมเดิร์น ซึ่งจะผันความตั้งใจของครูกุ้งให้เป็นแรงบันดาลใจแก่ช่างศิลป์อีกหลายรุ่นใหม่ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการถ่ายทอดความรักในงานศิลปะไทยลงบนผิวกระเบื้องผ่านปลายพู่กัน ส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ที่รักสไตล์ไทยร่วมสมัย

พบกับ ศ. หลังสวนเบญจรงค์ เบญจรงค์จากชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นด้วยความรักของครูกุ้ง พนิดา แต้มจันทร์ ที่มุ่งมั่นอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้วยหัวใจและพัฒนาให้ร่วมสมัยไปพร้อมกันได้ที่ ICONCRAFT ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่

YOU MAY ALSO LIKE